‘ชัชชาติ’ แจงแผนเก็บ 59 บาท เป็นเพดานรวมระยะ ‘ไข่แดง-ส่วนต่อขยาย’
ไม่ให้แพงกว่านี้ ย้ำเป็นมาตรการชั่วคราวจนหมดสัญญาปี 72 เมินราคา 44 บาท เหตุเงินเข้าเอกชนทั้งหมด-ก่อหนี้ กทม. เพิ่มหลายพันล้านต่อปี
วันนี้ (28 มิ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ชี้แจงประเด็นแผนเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ บีทีเอส รวมส่วนต่อขยาย ราคาควรอยู่ที่ 59 บาท จนสภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงการณ์คัดค้าน เนื่องจากมองว่า 59 บาทเป็นราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่มนั้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า มีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดจากการสื่อสารที่ยังไม่ชัดเจน โดยย้ำว่าราคา 59 บาทเป็นแผนการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้านในเขตเมือง (ไข่แดง) รวมกับส่วนต่อขยายที่ปัจจุบันไม่มีการจัดเก็บเลย แต่กลับมีผู้ใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอยู่ถึงร้อยละ 27 ตลอดจน มีข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมา จึงสมควรจัดเก็บค่าบริการตลอดสายขั้นสูงสุดไม่เกิน 59 บาท
“ถือเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อให้เริ่มเก็บค่าบริการส่วนต่อขยาย ที่ปัจจุบันพวกเราทุกคนช่วยจ่ายภาษีไปถึง 3 พันล้านบาทต่อปีในส่วนต่อขยายที่ 2 อยู่ ดังนั้น การเก็บค่าโดยสารรวมส่วนต่อขยายแล้วไม่เกิน 59 บาท ก็เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อน ซึ่งทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงต้องดีใจด้วยซ้ำ และขอขอบคุณที่ติดตามเรื่องนี้มานาน หากมีโอกาสจะเข้าไปพูดคุยด้วย” นายชัชชาติ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารไว้ที่ 44 บาทตามข้อเรียกร้องของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้หรือไม่ นายชัชชาติ ตอบว่า ราคา 44 บาทในเส้นทางไข่แดงนั้น เอกชนเขาเก็บหมดและไม่ได้แบ่งให้ทาง กทม. ดังนั้น หากจะกำหนดเพียง 44 บาทก็จะต้องอุดหนุนชดเชยในส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ที่ไม่เสียค่าโดยสารด้วย ซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้กับเราถึงหลายพันล้านบาทต่อปี จึงเป็นไปไม่ได้ แต่หากหลังปี 72 สามารถต่อรองค่าเดินรถได้ก็อีกเรื่อง แต่พูดถึงนาทีนี้ว่า ส่วนต่อขยายที่ไม่เสียค่าโดยสารอยู่นั้น ก็ต้องเก็บรวมกับไข่แดงให้ไม่เกิน 59 บาท เพราะก็เห็นใจผู้บริโภค
สำหรับกรณีหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แล้ว ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้กำหนดราคา 25 ตลอดสาย โดยอ้างว่าทำได้จริงเมื่ออ้างอิงจากรายได้ของบริษัท BTSC จำกัด นั้น นายชัชชาติ ตอบว่า คนอาจจะจินตนาการที่ 20-25 บาทได้ แต่สิ่งที่ผูกพัน กทม. อยู่คือ ค่าจ้างเอกชนเดินรถ ที่ทางเอกชนคำนวณมาจากต้นทุนรวมกับกำไรแล้วระบุในสัญญาซับซ้อนที่ค้ำคอเราอยู่ ซึ่งหากจะเลิกสัญญานั้นก็น่าจะเลิกได้จากข้อมูลของคณะกรรมการต่อรอง แต่จะต้องดูว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่