POLITICS

ประธานวิปรัฐบาล เผยล่าชื่อ ส.ส.รัฐบาล จ่อขอยื่นวินิจฉัย ก่อนลงมติ พ.ร.ก.เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ วันนี้

ปัดยื้อเพื่อให้มีผลต่อ ชี้เป็นทางที่ดีที่สุดให้ประชาชน เมื่อกฎหมายส่อขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (28 ก.พ. 66) นายนิโรธ สุนทรเลขา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566

นายนิโรธ ชี้แจงว่า รัฐบาลส่ง พ.ร.ก. เข้ามาในสภาฯ เพื่อให้หน่วยงานทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ได้รับการขยายระยะเวลาดำเนินการ และสามารถเดินหน้าได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. และเพื่อประชาชนจึงออก พ.ร.ก. ฉบับนี้มา อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่น่าจะชอบ หรือน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขความเร่งด่วนจำเป็น รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะหน่วงให้ล่าช้า แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลความเรียบร้อยของหน่วยงานกับประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงขอขยายระยะเวลาในส่วนนี้

นอกจากนี้ นายนิโรธ ยังชี้แจงถึงการเชิญตำรวจเข้าร่วมประชุมวิปรัฐบาลในเช้าวันนี้ว่า วิปรัฐบาลต้องการรับฟังว่าตำรวจมีเหตุผลใดในการขยายระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะได้พิจารณาว่าเห็นสมควรจะให้เดินหน้าหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าหากจะลงมติคว่ำไปเลยจะเดินหน้าลำบาก เพราะผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในชนบทด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้ววิปรัฐบาลเตรียมคำร้องไว้ขอยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่ นายนิโรธ ตอบว่า นี่คือความเห็นส่วนตัวของผม แต่วิปกำลังจะคุยกันในวันนี้ว่าจะเห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้มั้ย ที่ออกมาทับ พ.ร.บ. แต่เป็นออกมาให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานให้เดินหน้าได้

เมื่อถามต่อไปว่า หากฝ่ายค้านเรียกร้องให้ลงมติ วิปรัฐบาลจะพร้อมลงมติหรือไม่ นายนิโรธ ตอบว่า สภาฯ มีอำนาจก็จริง แต่หลายครั้งโหวตแล้วก็มีการตีความในศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง จนสภาฯ เกิดความเสียหาย ดังนั้น เพื่อเป็นความรอบคอบและไม่ให้สภาฯ เกิดความเสียหาย จึงคิดว่าเรื่องนี้ควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายนิโรธ ยังปฏิเสธว่า คำร้องของวิปรัฐบาลไม่ถือเป็นการยื้อการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกไป แต่ถือเป็นการให้หน่วยงานตาม พ.ร.บ. เดินหน้าได้ ถ้ามองในแง่ร้ายก็บอกว่าเรายื้อ แต่ถ้ามองเป็นกลางและตรงไปตรงมา เราก็เห็นว่า พ.ร.ก. น่าจะไม่ออกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ

ประธานวิปรัฐบาล ยังเปิดเผยว่า การเข้าชื่อน่าจะครบเรียบร้อย อาจยื่นก่อนหรือระหว่างการประชุมสภาฯ ก็ได้ เพื่อเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 173

เมื่อผู้สื่อข่าวว่า ความชะงักงันที่เกิดขึ้นใครต้องรับผิดชอบ นายนิโรธ ตอบว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ มันมี 2 แนวทางที่เคยปฏิบัติหากคว่ำ พ.ร.ก. คือ ลาออกหรือยุบสภาฯ หรือไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่คิดว่ารัฐบาลต้องเลือกยุบสภาฯ เพราะอย่างไรเขาก็เลือกจะยุบสภาฯ อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศและหน่วยงานเดินหน้าได้ เราจึงควรเลือกทางที่ดีที่สุดให้ประชาชน

Related Posts

Send this to a friend