สหรัฐฯ หนุนโครงการ “อนุรักษ์บ้านล้านนา เชียงใหม่” เดินหน้าสร้างแหล่งเรียนรู้
สหรัฐฯ หนุนโครงการ “อนุรักษ์บ้านล้านนา เชียงใหม่” เดินหน้าสร้างแหล่งเรียนรู้ “ภูมิปัญญาเชิงช่าง” สืบสานวัฒนธรรมล้านนา
วันนี้ (28 ม.ค.65) นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีปิดโครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาโบราณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา โดยเปิดเผยว่า กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (AFCP) เป็นกองทุนที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในหลายประเทศทั่วโลก โดยตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน กองทุน AFCP มอบทุนสนับสนุนให้โครงการในไทยแล้ว 20 โครงการ มูลค่ารวม 2,537,983 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะสนับสนุนปีละ 1 โครงการ เลือกเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเท่านั้น ส่วนอนาคตจะมีการขยายจำนวนโครงการ และงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ อยู่ในระหว่างการพิจารณา
“ความสำเร็จของโครงการไม่ใช่แค่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ และนักศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการอบรม และสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญ”
นายไมเคิล กล่าวต่อว่า โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาโบราณ เป็นหนึ่งในโครงการที่กองทุน AFCP สนับสนุนงบประมาณ 150,000 เหรียญสหรัฐ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 2 ปี (พ.ศ.2562 – 2564) เพื่อบำรุงซ่อมแซมเรือนล้านนา ซึ่งผลลัพธ์คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้ภูมิปัญญาล้านนา “ฝาไหล” มาประยุกต์ใช้กับการก่อสร้างอาคารสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่ด้วย
รศ.โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นภาคีของสหรัฐฯมายาวนาน โครงการนี้ไม่เพียงการซ่อมแซมเรือนโบราณ แต่เป็นการตระหนักคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมล้านนาด้วย
ผศ.วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ และผู้อำนวยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์เรือนโบราณ 10 หลัง และยุ้งข้าว 4 หลัง โดยระยะต่อไปสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจะดำเนินรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาเชิงช่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเรือน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไป นักศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโทของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงจัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ และจัดแสดงนิทรรศการ “ภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน” ให้กับผู้ที่สนใจด้วย