POLITICS

เสวนาสื่อเอเปคครั้งที่ 8 ชี้ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารทวีความรุนแรงขึ้น

เสวนาสื่อเอเปคครั้งที่ 8 ชี้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารทวีความรุนแรงขึ้น แนะทุกฝ่ายจับมือบรรเทาวิกฤต-เสริมความมั่นคงระดับนานาชาติ

​วันนี้ (27 ก.ย. 65) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 8 “APEC and Food Security: Sustainability beyond global uncertainties” ณ หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อเปิดพื้นที้ให้ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เยาวชน และผู้แทนจากกลุ่มเอเปค ร่วมถกประเด็นความมั่นคงทางอาหาร โดยมี ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคภาษาอังกฤษไทยพีบีเอส Thai PBS WORLD เป็นผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมเริ่มขึ้นโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สจล. กล่าวเปิดงานว่า เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ไทยให้ความร่วมมือทางด้านการเกษตร ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: Bio-Circular-Green Economy ควบคู่กับนโยบาย 3S ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเปค

​ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบาย และแนวคิดดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมในวันนี้ขึ้น เพื่อระดมสมอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับวิกฤติการณ์ความยั่งยืนทางอาหารของโลก แสวงหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารอย่างเพียงพอ และครบถ้วนตามโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และเข้าถึงแหล่งทำกินได้

รองศาสตราจารย์ ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล คณบดีคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. กล่าวว่า โดยปกติแล้วผู้คนในแต่ละภูมิภาคมักมีอาหารการกินดีอยู่ดีไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใดก็ตาม แต่จากสถานการณ์ผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหาความขาดแคลนส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยมีเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอาหาร (Food Supply Chain) ในฐานะที่รัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับต้นๆ ของโลก สงครามทำให้การส่งออกปุ๋ยชะงักงัน จึงมีผลต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร และผลผลิตของโลกได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทางด้านยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก สงครามทำให้การส่งออกข้าวสาลียากลำบากมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณข้าวสาลีมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนทั้งโลก

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) จากการปศุสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซมีเทนจนทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ได้นำไปสู่การรณรงค์ลดการบริโภคสัตว์ใหญ่ และให้บริโภคโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) ทดแทน ในส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การขนส่งหยุดชะงักส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง คือ กระบวนการผลิตอาหาร ไปจนถึงราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จากปัจจัยปัญหาดังกล่าว เป็นแรงกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันกลับมาใส่ใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน เด็กรุ่นใหม่ หรือ สื่อมวลชน ที่ต้องสะท้อนปัญหาให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

นายสิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ กรรมการผู้จัดการ มันตรา แพลนท์เบสซีฟู้ด กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลขนาดใหญ่ แต่เอกชนรายย่อยอย่างเราก็ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการผลิตอาหารทะเลจากพืช (Plant-based Seafood) ทดแทนได้ ซึ่งมีแนวทางโน้มน้าวผู้บริโภคผ่านการหันเหความสนใจสู่การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น อย่างกรณีเทศกาลกินเจในปัจจุบัน

นายภาณุ วงศ์ชะอุ่ม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสำนักข่าวรอยเตอร์ และประธานชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะสื่อมวลชนว่า ความท้าทายในปัจจุบันคือปัญหามันวิกฤตมากขึ้น เรายืนยันว่าความมั่นคงทางอาหารควรได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบนั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้ในความเป็นจริง ประเด็นความมั่นคงทางอาหารจะอยู่ในความสนใจหลักได้ไม่ง่ายนัก แต่ส่วนตัวเชื่อว่า สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดความสนใจของสาธารณชนต่อการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมและเข้าใจง่าย

นายโจนาธาน คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้แทนจากประเทศอดีตเจ้าภาพในปีที่แล้วว่า ความมั่นคงทางอาหารถือเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากราคาสินค้าพุ่งทะลุเพดาน ผู้บริโภคไม่สามารถซื้ออาหารได้ในราคาที่เคยเป็น การจัดการประชุมเอเปคของประเทศไทยจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมเอเปคจะแสดงผลลัพธ์ในสิ่งที่เราได้มุ่งมั่นทำมาตลอดทั้งปี ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 4 เป้าหมาย ได้แก่ การจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การค้ากับการลงทุนอย่างยี่งยืน ตลอดจนการบรรเทาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การยืดหยุ่นปรับตัว และการงดปล่อยคาร์บอน

​นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนิทรรศการข้าวไร่ จาก สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ Upland Rice : FIGHT Global Crisis โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ร่วมจิต นกเขา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มาให้ความรู้ ด้านการแก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศด้วยข้าวไร่ เนื่องจากข้าวไร่เป็นพืชที่มีความมั่นคงทางอาหาร ทั้งข้าวพันธุ์ภูเขาทอง ข้าวพันธุ์ดอกคำ ข้าวพันธุ์เล็บนก และข้าวพันธุ์สามเดือน ที่สามารถใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อการบริโภคได้ อีกทั้งข้าวไร่ยังทนต่อสภาพภูมิอากาศในแบบต่างๆ ได้ดี สามารถใช้ปลูกแซมกับพืชชนิดอื่นๆ อาทิ มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หรือยางพารา เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินได้สูงสุด

รวมถึงนิทรรศการจากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่นำเสนอตำราอาหารเพื่อสุขภาพที่แปรรูปวัตถุดิบพื้นถิ่น ตลอดจนนิทรรศการจากคณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. ที่นำเสนออาหารและของว่างนานาชนิด ที่ถือเป็นอีกแนวทางส่งเสริมให้เกิดการเกษตรที่ยั่งยืน มุ่งสู่แนวคิดความยั่งยืนทางอาหารทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลกต่อไป

เรื่อง/ภาพ : ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend