‘ปลอดประสพ’ เตือนปลุกรัฐบาลรับมือพายุโนรู
แนะตั้งวอร์รูมต้องทำแบบจริงจัง รายงานแบบทุกนาทีให้ประชาชนทราบ
วันนี้ (27 ก.ย. 65) ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเตรียมการรับมือกับพายุโนรูที่จะสร้างความรุนแรงและความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลที่รัฐบาลควรรู้ ได้แก่
1.พายุโนรูจะเป็นพายุโซนร้อนที่ใหญ่ที่สุดลูกหนึ่ง นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเคยประสบมา
2.ขนาดของพายุลูกนี้ ครอบคลุมเนื้อที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง รวมพื้นที่ทั้งหมดครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือมากกว่า 250,000 ตารางกิโลเมตร
3.ด้วยขนาดของพายุที่ครอบคลุมเนื้อที่ขนาดใหญ่ จะกระทบกับพี่น้องประชาชน 30-35 ล้านคน
4.พายุโนรูจะอยู่ในประเทศไทย 3-5 วัน โดยจะทำให้ฝนตกหนัก 100-300 มิลลิเมตรหรือมากกว่าในบางพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่สูงมาก
5.ปริมาณฝนดังกล่าวจะเพิ่มน้ำท่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล 10 เขื่อน
6.แม้เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จะมีความสามารถรับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบน้ำในภาคเหนือ รับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พื้นที่ภาคกลางอิ่มตัวแล้ว ไม่มีความสามารถซึมน้ำได้อีก ดังนั้นปริมาณน้ำฝน 100,000 มิลลิเมตร จะมีน้ำเหลือ ไหลลงสู่ภาคกลาง 70,000-80,000 ลูกบาศก์เมตร และบางพื้นที่น้ำจะไหล่บ่าลงมา ในลักษณะหน้ากระดาน
7.พายุลูกนี้ เป็นพายุลูกที่ 16 แต่เป็นพายุที่ให้น้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อผสมความชื้นในทะเลจีนตอนใต้ และมีร่องมรสุมในพาดผ่านตรงกลาง มีหน้าที่เป็นกับดักความชื้นที่ถูกป้อนจากมหาสมุทร รัฐบาลจึงต้องเร่งเตรียมการ
8.ปริมาณน้ำจากพายุโนรู จะไหลลงสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาเดียวกันกับน้ำทะเลขึ้นสูง ซึ่งยากต่อการระบายเป็นอย่างมาก
9.เชื่อว่าจะมีพายุเข้ามาอีก 1-3 ลูก แต่ความรุนแรงน้อยกว่า
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ดังกล่าว รัฐบาลต้องเตรียมการ 5 ข้อ ได้แก่
1.ต้องเตรียมการเผชิญเหตุภายในอีก 24 ชั่วโมง โดยต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการเผชิญเหตุ
- เมื่อผ่านระยะ 3 วันไปแล้วจะเป็นระยะค้นหา ช่วยเหลือ เตรียมการอุปกรณ์ช่วยเหลือให้พร้อม เช่น เรือ เฮลิคอร์ปเตอร์ อุปกรณ์ให้กับกลุ่มงานทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น
- ระยะการฟื้นฟู ต้องทำ 6 เรื่อง
3.1 นำบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วย 3.2 นำบุคลากรด้านสาธารณสุขเข้ามาช่วยเหลือ รักษาโรคที่เกิดจากน้ำนิ่ง 3.3 ส่งของใช้อุปโภคบริโภคให้ประชาชน 3.4 ใช้โรงเรียนและวัดให้เป็นประโยชน์ 3.5 นำทหารจากหน่วยช่าง เพื่อซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ 3.6 ให้กรมทางหลวงชลนทและกรมชลประทานซ่อมแซมสาธารณูปโภค
สำหรับบทบาทของรัฐบาลที่ควรจะเป็น คือ
- การตั้งวอร์รูมของรัฐบาล ต้องเพิ่มการทำงานให้มีบทบาทที่ชัดเจนและจริงจังมากกว่านี้ จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ และมีอำนาจเต็มเข้าไปสั่งการโดยตรง และต้องเป็นคนรู้จริง ทั้งนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ ผู้มีความรู้ – รัฐบาลต้องประกาศเป็นวันหยุดราชการทันทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (27 กันยายน 2565) เช่นเดียวกับเวียดนามที่ดำเนินการแล้ว ทั้งปิดโรงเรียน สถานที่ราชการ ฯลฯ
การตั้งวอร์รูมในทำเนียบรัฐบาล ต้องเปิดระบบทีวีพูลและวิทยุพูล โดยต้องออกข่าวอย่างต่อเนื่อง สื่อสารไปยังประชาชน อย่างเช่น เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547 เจ้าหน้าที่รายงานของทีวีพูลประจำการที่ตนตลอด
รัฐบาลต้องสั่งการให้รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ประสบเหตุโดยเด็ดขาด ไม่ต้องลงพื้นที่โดยไม่จำเป็น
“สิ่งที่กังวลมากๆ คือ ขณะนี้โชคร้ายที่ประเทศไทยไม่มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง สร้างความกังวลให้กับประชาชน เพราะไม่กล้าสั่งการหน่วยงาน”
“ผมเคยทำ จึงรู้เรื่องนี้ ท่านต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ผมหวังว่าที่พรรคเพื่อไทยให้สติในวันนี้ท่านจะฟัง เราเตือนเพราะเป็นห่วงประชาชน เรามีความรู้ มีประสบการณ์และไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อนอีก” ดร.ปลอดประสพ กล่าว