‘อังคณา’ ตั้งคำถาม ‘ทักษิณ’ ไม่เคยติดคุกจริง ชี้เชิญปาฐกถาปราบยาเสพติดคล้ายข้ามหัวนายกฯ
วันนี้ (27 พ.ค. 68) นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แสดงความเห็นต่อกรณีนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคดีพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งศาลฎีกาได้นัดไต่สวนคู่ความในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ โดยระบุว่า สังคมยังคงมีความคลุมเครือ ประกอบกับมีกระแสข่าวเรื่องการตกลงในลักษณะพิเศษ (ดีล) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเด็นของนายทักษิณและคดีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฮั้ว สว.) ทำให้เกิดการจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวต่างๆ จะจบลงด้วยการเจรจาตกลงกันของพรรคการเมืองใหญ่หรือไม่
นางอังคณาตั้งข้อสังเกตถึงการที่นายทักษิณพักรักษาตัวนอกเรือนจำที่ชั้น 14 เป็นระยะเวลานานว่า อาจเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่ตนเคยไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งพบว่าแม้แต่คนไข้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ แต่นายทักษิณกลับไม่เคยเข้าไปอยู่ในส่วนของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เลยแม้แต่วันเดียว กรณีดังกล่าวทำให้สังคมมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และประชาชนกำลังจับตามองคำสั่งของศาลฎีกาในวันที่ 13 มิถุนายนนี้อย่างใกล้ชิด นางอังคณากล่าวเสริมว่า แม้แต่รัฐบุรุษคนสำคัญของโลกก็ยังเคยติดคุก แต่เหตุใดนายทักษิณจึงไม่เคยติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ซึ่งสร้างความสงสัยให้แก่ประชาชนทั่วไป
สมาชิกวุฒิสภายังวิเคราะห์ว่า คำสั่งศาลในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด ย่อมส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ นางอังคณายังอ้างถึงเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมที่ประเทศมาเลเซีย แต่นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กลับกล่าวชื่นชมนายทักษิณ ซึ่งตนมองว่าเป็นการกระทำที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการข้ามหน้านางสาวแพทองธาร และทำให้นายทักษิณถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง อันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ากรณีเช่นนี้สะท้อนถึงการมีอยู่ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่สามารถได้รับการเลือกปฏิบัติ
ต่อคำถามที่ว่าผลการพิจารณาคดีในวันที่ 13 มิถุนายน จะส่งผลให้นายทักษิณได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมืองอย่างไร นางอังคณากล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งศาล และท่าทีของนายทักษิณว่าจะให้ความร่วมมือหรือไม่ หรือจะอ้างอาการป่วยหนักในวันดังกล่าว หากยังเชื่อมั่นในอำนาจอธิปไตยของศาลในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนตัวหวังว่านายทักษิณจะเดินทางไปศาลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาตัวที่ชั้น 14 ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ยังคงเคลือบแคลงว่าป่วยจริงหรือไม่ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่าป่วยจริงก็ตาม โดยผลคำสั่งศาลในวันนั้นอาจทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏชัดเจนขึ้น
นางอังคณายังตั้งคำถามถึงเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องการเพียงนำนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่ง กลับประเทศโดยไม่ต้องรับโทษจำคุกและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนอาจไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ แม้พรรคการเมืองจะเคยให้คำมั่นสัญญาเรื่องสวัสดิการต่างๆ ไว้ แต่สุดท้ายอาจกลายเป็นเพียงการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของคนในครอบครัวตนเอง
สำหรับการเชิญนายทักษิณไปปาฐกถาพิเศษที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในวันนี้นั้น นางอังคณาระบุว่า ตนเองรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งที่เลขาธิการ ป.ป.ส. อ้างถึงความสำเร็จของนายทักษิณในการปราบปรามยาเสพติดในอดีต และแนะนำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปอ่านรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คตน.) ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่ระบุถึงกรณีการอุ้มหายในคดียาเสพติดกว่า 3,000 ราย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับโทษ จึงเกิดเป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดเลขาธิการ ป.ป.ส. จึงมองว่านายทักษิณประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งที่นโยบายดังกล่าวเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ
นางอังคณามองว่า การเชิญนายทักษิณในลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นการข้ามหน้านายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการเชิญ ซึ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสให้นายทักษิณได้ชี้แจงและเรียกร้องความเห็นใจ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่เต็มไปด้วยประเด็นซับซ้อน ทั้งปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการเลือก สว. ปัญหาภายในวุฒิสภาเกี่ยวกับการเลือกองค์กรอิสระ รวมถึงการถูกตั้งคำถามจากทูตานุทูตเรื่องการฮั้ว สว. ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นภายหลังจากที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าจะมีข้อตกลงพิเศษหรือไม่ ตนเชื่อว่านายทักษิณย่อมรู้อยู่แก่ใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่น่ากังวล ขณะที่นายกรัฐมนตรีมักตอบคำถามในลักษณะคล้ายไม่ให้ความสำคัญ หรือเป็นการตอบโต้มากกว่าการชี้แจงข้อเท็จจริง ทำให้ยังไม่เห็นภาวะผู้นำที่ชัดเจนเท่าที่ควร
ท้ายที่สุด นางอังคณาตั้งข้อสังเกตว่า การปรากฏตัวของนายทักษิณในวันนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะกล่าวถึงนโยบายหรือเป็นเรื่องส่วนตัว และสิ่งที่สำคัญคือความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อนโยบายที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นไว้ เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีความคืบหน้า