POLITICS

‘กัณวีร์’ มอง 10 ปี การเจรจาสันติภาพชายแดนใต้อีกกี่ปีก็ไม่สงบ หากปราศจาก การมีส่วนร่วมของ ปชช.

‘กัณวีร์’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม มอง 10 ปี การเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ อีกกี่ปีก็ไม่สงบ หากปราศจากประชาชนในพื้นที่เข้ามีส่วนร่วม และยกระดับสู่รัฐสภา

วันนี้ (27 ก.พ. 66) นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะครบ 10 ปี ในวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2566 นี้ ซึ่งจากการติดตามผลการพูดคุยครั้งล่าสุดของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ได้แถลงข่าวผลการพูดคุยกับ BRN

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้สังเคราะห์แล้วเห็นว่า ทั้งไทยและทั้ง BRN เอง ที่ได้ตกลงกันว่าการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากแต่ ณ ปัจจุบัน ไม่มีแม้กระทั่ง “ตุ๊กตาโมเดลการมีส่วนร่วม” อยู่ในใจ ซึ่งคงทำให้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญหลักในการสร้างสันติภาพไม่สามารถดำเนินการได้ หรือได้แต่คงช้ามาก

“หากเปรียบกับร่างกายมนุษย์ก็คือ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ทำให้การไหลเวียนของโลหิตหยุดอย่างสิ้นเชิง แล้วร่างกายนั้นจะสามารถมีชีวิตได้อย่างไร”

นายกัณวีร์ ระบุว่า การสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น ยังไม่สามารถทำให้วัฏจักรสำคัญในการปกป้องคุ้มครองพลเรือนในพื้นที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเปรียบกับร่างกายของมนุษย์ก็เสมือน “การเป็นโรคไตวาย” ที่ระบบการรักษาสันติภาพไทยยังไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้

“กว่า 7 พันชีวิต ต้องสูญเสีย เกือบ 3 หมื่นคนในพื้นที่ต้องได้รับบาดเจ็บ นี่ยังไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย และจิตใจของประชาชนที่ตกต่ำไม่สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติสุข”

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ตนเองได้ย้อนกลับไปดูชีวิตตอนอยู่ซูดานใต้และซูดาน (เหนือ) ระยะเวลากว่า 6 ปี ที่ได้ทำงานร่วมกับการสร้างสันติภาพในสองประเทศนี้ ผมตระหนักดีว่าในทางสากล ทุกภารกิจเค้าให้ความสำคัญกับ “การให้ความคุ้มครองต่อพลเรือน” (Protection of Civilians—POC) เป็นสำคัญ ถือว่าเป็นอาณัติหลักของกองกำลังรักษาสันติภาพที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนต้องเคารพการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศนี้อย่างสูงสุด

“มีทั้งกระบวนการที่ครอบคลุม การประสานงานจากทุกภาคส่วน และต้องวางแผนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียให้ครบเสียก่อน ถึงจะสามารถปฏิบัติงานได้ จริงๆ แล้ว POC นี้เป็นหน้าที่หลักของรัฐเจ้าของพื้นที่ในการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อพลเรือนทั้งหมด หากแต่ประเทศที่ว่านี้ ขีดความสามารถในการให้ความคุ้มครองต่ำ จึงจำเป็นต้องขอร้องให้กลไกระหว่างประเทศของสหประชาชาติ โดยกองกำลังรักษาสันติภาพ ร่วมกับงานมนุษยธรรมดำเนินการแทน โดยต้องดึงหลักการด้านมนุษยธรรมเป็นคัมภีร์สำคัญ”

นายกัณวีร์ เห็นว่าจำนวนพลเรือนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนใต้ของไทยมีจำนวนมาก แสดงว่าไทยไม่มีศักยภาพ และ/หรือ ประสิทธิภาพ ในการให้ความคุ้มครองต่อพลเรือนของตัวเองกระนั้นหรือ

“หากตามที่ พลเอก วัลลภฯ ได้แจ้งระหว่างการแถลงข่าวว่า หากใครมีโมเดลอะไรที่จะเสนอ ก็สามารถเสนอได้ ผมดีใจนะครับที่ท่านทั้งเก่งและมีใจเปิดกว้าง แต่ผมกลัวแค่ว่ารัฐบาลจะรับได้หรือไม่เท่านั้นเองครับ”

นายกัณวีร์ ยืนยันว่า แม้เป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่มีเป้าหมายทำงานการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเห็นด้วยกับภาคประชาสังคมที่พรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญยกระดับปัญหาเป็นวาระแห่งชาติสู่รัฐสภา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโต๊ะเจรจาไม่ใช้เพียง 2 ฝ่ายที่กุมกำลังทางทหารเท่านั้น และยกเลิกกฏหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น พรก.ฉุกเฉินและกฏอัยการศึก

Related Posts

Send this to a friend