POLITICS

สว.สมชาย ห่วง ครม.ใช้งบกว่า 15,700 ล้าน ทำประชามติ ร่าง รธน.ฉบับใหม่ อาจไม่คุ้มค่า

สว. หารือขอให้ ป.ป.ช. ส่งหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำ ขณะ สว.สมชาย ห่วง ครม.ใช้งบกว่า 15,700 ล้านบาท ทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชี้อาจไม่คุ้มค่า อัดต้นทุนประชาธิปไตยแสนแพง

การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (26 ธ.ค.66) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกนำปัญหาต่างๆ เข้าหารือ อาทิ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สมาชิกวุฒิสภา ได้หารือถึงการแจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำ โดยเสนอแนะให้ ป.ป.ช. ออกหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานรัฐทุกหน่วยเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่อการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม

ด้าน นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา หารือถึงกระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องปกป้องคุ้มครองคนดี ผู้ถูกกระทำ และอีกทางหนึ่งต้องทำให้คนไม่ดีเกรงกลัวต่อการถูกลงโทษและไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งขอกระทรวงยุติธรรมทบทวนบทลงโทษและระเบียบของราชทัณฑ์จะต้องบังคับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลเพื่อให้คนในสังคมเกรงกลัวต่อกฎหมายการลงโทษ

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้หารือไปยังนายกรัฐมนตรีกรณีที่รัฐบาลแถลงจะทำประชามติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ตนเองในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีไปดำเนินการวุฒิสภา โดยวุฒิสภาได้มีการหารือและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ชี้แจงเรียบร้อยมีการจัดทำรายงานต่อวุฒิสภา และมีข้อกังวลไปยังคณะรัฐมนตรีที่จะต้องทำประชามติว่าการร่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการจัดทำประชามตินั้นจะต้องจัดทำอย่างน้อย 3 ต้นทุนครั้งละ 3,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง หรือใช้งบประมาณ 10,500 ล้านบาท เพราะในการกำหนดให้มีการทำประชามติ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 475,000 คนหน่วยละ 5 คน กว่า 95,000 หน่วย ต้องมีการเลือกตั้ง สสร.ทั่วประเทศ ซึ่งไม่เคยมีในประเทศไทย แต่การเลือกตั้ง สสร.เมื่อปี 2539 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการเลือกทางอ้อมและให้สภาเลือก แต่หากเลือก สสร.ทั้งประเทศจะแบบเขตจังหวัดหรือแบบการเลือกตั้งทั่วไป คาดการณ์ต้องใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินเดือน สสร. ประมาณ 100 คน และผู้ติดตามรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกประมาณ 200 ล้านบาท เบ็ดเสร็จก็จะใช้เงินประมาณ 15,700 ล้านบาทหรือมากกว่า

ทั้งนี้ ตนเองกังวลที่จะต้องเรียนไปยังคณะรัฐมนตรีที่จะต้องทำประชามติว่าการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยการทำประชามตินั้นจะต้องทำอย่างที่คณะทำงานฯ ชี้แจงต่อสภา หรือแถลงข่าวเมื่อวานนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง ต้นทุนในการทำประชาธิปไตยอันแสนแพงด้วยการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติ 16 ล้านมาแล้วจะร่างใหม่ มีต้นทุนครั้งละ 3,500 ล้านบาทใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ถ้ำทำสามครั้งจะใช้เงิน 10,500 ล้านบาท

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมที่จะต้องมีการขอจัดทำประชามติว่าไม่มีการแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 นั้น ตนเองอยากให้กลับไปอ่านเอกสารฉบับดังกล่าว โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2560 ถึง 39 มาตรา ในหมวด 1 และ 2 มีถึง 11 มาตรา ที่เหลือ 27 มาตรา อยู่ในหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลไม่ได้ระบุไว้ถึงในการจัดทำประชามติและระบุถึงการแก้ไขได้หรือไม่ ตนเองห่วงเกรงว่าจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่กับการจัดทำประชามติที่ต้องจัดทำทั้งฉบับแทนการร่างหรือแก้ไขในสภา

Related Posts

Send this to a friend