นายกฯ เผยผลงานเยือน 5 ประเทศ ชี้ ไทยเหมาะลงทุน
วันนี้ (26 ต.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ตามระเบียบวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวก่อนตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีว่า ตนเองเป็น สส.หนึ่งคนที่ได้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจามากเป็นลำดับต้นๆ หลายครั้งที่ได้มีการถามนายกฯ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็ได้มีการมอบหมายให้คนอื่นมาตอบบ้าง แต่ผมสนใจแค่คำตอบที่ได้รับว่า พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร ตนเองไม่ติดใจที่ใครจะมาเป็นคนตอบกระทู้ ขอแค่เป็นคณะรัฐมนตรี ดีกว่าเลื่อน หากเลื่อนการตอบ สส. จะขาดโอกาสในการที่นำปัญหาของประชาชนเข้ามาในสภาฯ
นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ดีใจที่นายกฯ ได้สละเวลามาตอบกระทู้ถามด้วยวาจาของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับสภาฯ และแสดงให้เห็นว่านายกฯ เห็นความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ สส. นำความเดือดร้อนของประชาชน มาให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีรับทราบ
นายอัครเดช ระบุว่า ในช่วงวันที่ 9 – 21 ต.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวลาในการเดินทางไปพบกับผู้นำ 7 ประเทศ จาก 5 ประเทศที่ได้ไปเยือน ซึ่งได้รับเกียรติและการต้อนรับอย่างสูง เพราะผู้นำมีความเชื่อมั่นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน และที่สำคัญนายกฯ ได้รับเลือกจาก สส. ของสภาฯ นี้เกินกึ่งหนึ่งของ สส. ทั้งหมดที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่า นายกฯ เป็นผู้ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวในการเข้ามาบริหารประเทศ และได้ประกาศเสมอมาว่า ขอเป็นเซลล์แมนของประเทศไทยออกไปทำการค้าการขายให้กับประเทศ ซึ่งเป็นความหวังของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ จึงขอตั้งคำถามว่า ประเทศไทยได้อะไรจากการที่นายกฯ ไปเยือนต่างประเทศ
นายเศรษฐา ตอบว่า ผมขอยืนยันว่า ผมให้เกียรติสภาฯ เสมอ หากไม่ติดภารกิจจำเป็น จะพยายามเข้ามาตอบกระทู้ และข้อสงสัยของสมาชิก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องให้เกียรติกับฝ่ายนิติบัญญัติ ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ได้ไปเยือนในหลายประเทศเป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนกันยาบน ในการประชุม UNGA มีโอกาสได้พบปะกับผู้นำรวมถึงบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ เพื่อเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย ในภาพรวมเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ในการไปเยือนประเทศในอาเซียน โดยพยายามใช้เวลาที่มีจำกัดไปสร้างสัมพันธ์ที่ดี และเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ได้มีการพูดคุยในแง่ของการค้าขาย การส่งสินค้าเกษตรเข้ามาขายในประเทศ การพูดคุยกับ กองทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจคือ สมเด็จราชาธิบดีมาเลเซียมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการล่าสัตว์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในภาคใต้ของประเทศไทย และภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้สั่งการไปแล้ว แม้จะเป็นประเด็นปลีกย่อย แต่ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นด้านที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในส่วนการค้าชายแดนเราเห็นตรงกันว่าเรายังสามารถทำได้อีก ทั้งการเชื่อมถนนและสะพาน รวมถึงการสร้างสะพานสุไหงโกลก 2 และการเปิดใช้แดนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการค้าขายมากขึ้น นอกจากนี้มีการพูดคุยในเรื่องการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งได้มีเชิญชวน ผู้แสดงเจตจำนงที่อยากจะมาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่นี่ ซึ่งก็หวังว่าจะมีการเซ็นเอ็มโอยูกันได้ในเร็ววัน
สำหรับการประชุม One Belt One Road เป็นการแสดงเจตจำนงว่า ประเทศไทยยินดีที่จะร่วมพัฒนาการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งถนน และรถไฟความเร็วสูง และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากประธานาธิบดีจีน เป็นการสานต่อจากรัฐบาลที่แล้ว ในการยืนยันว่า เราจะมีการขยายโรงงานอย่างต่อเนื่อง นำความเจริญมาให้ประเทศไทยได้ นอกเหนือจากด้านอุตสาหกรรม เรายังมีการเจรจาทาง ด้านการเปิดประตูการค้าทางเกษตร เพื่อให้เราสามารถนำเข้าสินค้าการเกษตรได้มากขึ้น รวมถึงการขอความช่วยเหลือในการเจรจาจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อนำตัวประกันกลับมาด้วยความปลอดภัย ทั้งหมดนี้เป็นการสานสัมพันธ์ตามที่ตนได้แถลงไปแล้ว ถึงเรื่องนโยบายการเปิดประตูการค้า
“เราไปประกาศว่า ประเทศไทยเปิดแล้วพร้อมแล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุด ที่จะมาลงทุนในประเทศไทย” นายเศรษฐา กล่าว
นายอัครเดช ถามต่อว่า การลงทุนจากการเจรจาของนายกฯ มีโครงการอะไรบ้างที่น่าสนใจ
นายเศรษฐา ตอบว่า เรื่องการลงทุนเราให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม S Curve ทั้งหมด โดยรัฐบาลที่แล้วก็ได้มีการเจรจากับภาคเอกชนให้มาลงทุนในแง่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายราย และได้ไปสานต่อว่าไม่ใช่แค่เข้ามาลงทุน ในโรงงานผลิตอย่างเดียว แต่อยากให้มาลงทุนในด้านซัพพลายเชนด้วย เพื่อให้ส่งผลต่อ SME รวมถึงเรื่องของ Cloud Server และ Data Center ที่จะมีการเจรจาต่อไป และได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแล้ว น่าจะมีข่าวดีเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
อีกทั้ง ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนบุคลากร และการเทรนนิ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องเน้นในเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร ก็ได้รับการยืนยันจากคู่ค้าของเราแล้วว่า จะช่วยเหลือดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดอีกหนึ่งเรื่องที่เราจะต้องทำคือ เรื่องการเจรจาเอฟทีเอ ที่ต้องเร่งเจรจา และปิดดีลให้ได้ เพื่อให้เขามีความสบายใจว่า หากลงทุนในประเทศนี้ เรามีสนธิสัญญาการค้า ซึ่งสามารถช่วยผลักดันการค้าระหว่างทั้งสองประเทศได้
นายอัครเดช ถามว่า การดูแลแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้แรงงานไทยในอิสราเอลไปอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่มีความปลอดภัยมากกว่า และหากเป็นไปไม่ได้ เราจะให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างไร มีนโยบายในการช่วยเหลือ และรองรับแรงงานเหล่านี้อย่างไร
นายเศรษฐา ตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจของผม และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ทั้งในกรณีที่มีปัญหาในการลำเลียงแรงงานกลับมา แม้จะนำกลับมาได้แล้วกว่า 4,000 คน แต่ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ปัญหารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นปัญหาใหญ่ของการบริหารจัดการ เพราะเมื่อ 4 – 5 วันที่ผ่านมา เริ่มมีแรงงานเปลี่ยนใจไม่อยากกลับ เพราะนายจ้างสัญญาว่าจะให้เงินเพิ่ม รวมถึงจ่ายเงินให้ในวันที่ 10 พ.ย. ทำให้แรงงานหวั่นไหว ไม่ยอมกลับมา สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสะท้อนถึงปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชน ทำไมเขาถึงต้องไปแลกชีวิตกับเงินพิเศษอีก 50,000 บาท และต้องอยู่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายถึงวันที่ 10 พ.ย. ซึ่งเราเองทราบอยู่แล้วว่า สงครามนี้จะพัฒนาไปเป็นความรุนแรงที่มากขึ้น รวมถึงการปฎิบัติการภาคพื้นดินที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมโหฬาร สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้น นโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของเรา ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนคนไทยทุกคน เรื่องนี้รัฐบาลเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งเราอาจจะใช้แผนซ้อนแผน ขอบคุณที่ให้คำแนะนำมา แต่เหนือสิ่งอื่นใดตอนนี้ทำอะไรได้ ต้องทำก่อน
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ได้มีการประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ว่า อาจจะมีการให้สินเชื่อพิเศษในมูลค่าไม่เกิน 150,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานกลับมา และอาจจะให้สามารถผ่อนจ่ายระยะยาว 20 ถึง 30 ปี โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อเป็นแรงจูงใจ ด้านกระทรวงแรงงานเอง ก็จะมีแพ็คเกจพิเศษเสริมในการดึงแรงงานกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด ฝ่ายความมั่นคงก็ได้มีการส่งหน่วยกำลังเข้าไป เพื่อต่อรองช่วยลำเลียงทางด้านโลจิสติกส์
“เราพยามทำเต็มที่เพื่อบริหารจัดการในการแรงงานกลับมาได้โดยเร็ว ไม่อยากให้คำนึงถึงเรื่องเงิน แรงงานของเราน่าสงสาร เราต้องให้การช่วยเหลือเยียวยา เราใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้แรงงานเราสามารถกลับได้อย่างปลอดภัย รัฐบาลยืนยันว่า เราจะต้องยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” นายเศรษฐา กล่าว