POLITICS

เผย ระบบตั๋วร่วมล่าช้าเหตุสัญญาสัมปทาน ไม่มีระบุและไทยไม่มี กม.-หน่วยงานกำกับดูแล

‘ศักดิ์สยาม’ ลุกตอบกระทู้ถาม ‘ระบบตั๋วร่วม’ เผยเหตุล่าช้า 2 ประการ ชี้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในอดีต ไม่ได้ระบุเรื่องตั๋วร่วม พร้อมไทยยังไม่มีกฎหมาย-หน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน ยัน เร่งหน่วยงานพัฒนาให้เป็นรูปธรรม หวังอำนวยความสะดวกการเดินทางประชาชน เชื่อม บก-น้ำ-ราง-อากาศ เชื่อเตรียมเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการตอบกระทู้ถามทั่วไป เรื่องความคืบหน้าในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้า (บัตรแมงมุม) และระบบตั๋วร่วมขนส่งมวลชน ตามที่นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล กรุงเทพมหานคร (กทม.) วันนี้ (26 ส.ค. 2564) ณ รัฐสภา ว่าเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเดิมในอดีต โดยการขนส่งสาธารณะนั้น ประเทศไทย เริ่มต้นจากระบบไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งถือเป็นเส้นทางแรกในปี 2542 ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ถัดมาในปี 2547 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ภายใต้กำกับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ในสัญญาสัมปทานทั้ง 2 สัญญาของโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้มีการระบุถึงการใช้ระบบตั๋วร่วม ทำให้ในปี 2555 กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เริ่มโครงการศึกษาการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา จะต้องใช้เวลาเล็กน้อย เพราะว่าในปี 2556-2558 มีการศึกษาวางแนวทางการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ขณะที่ในปี 2558-2560 มีการศึกษาระบบจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ซึ่งในขณะนี้ ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นในปี 2561 สนข. ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอออก พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า โดยสรุปเบื้องต้นนั้น ปัญหาระบบตั๋วร่วมที่มีความล่าช้า ไม่สามารถเปิดบริการให้กับประชาชนได้ มี 2 ประการ ประกอบด้วย

1.มีผู้ประกอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลายราย ซึ่งในสัญญาสัมปทาน ไม่ได้ระบุให้มีการดำเนินการเรื่องระบบตั๋วร่วม ทำให้ต้องอาศัยการเจรจา ซึ่งในขณะนี้การเจรจาต่าง ๆ ได้ผลลุล่วงเป็นอย่างดี

2.ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องระบบตั๋วร่วมอย่างชัดเจน ทำให้ไม่มีอำนาจไปบังคับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าให้เข้าร่วมใช้ระบบตั๋วร่วมได้

“ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือน กรกฎาคม 2562 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้สำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว หรือใช้บัตรอะไรก็ได้ เพื่อผ่านเข้าระบบได้เป็นระบบเดียว เพื่อที่จะสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะแค่เรื่องรถไฟฟ้า ขณะนี้ต้องเรียนว่า การศึกษาของกระทรวงคมนาคมเราสามารถที่จะไปใช้ได้ทั้งรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เรือโดยสาร และสามารถใช้ซื้อตั๋วโดยสารขึ้นสายการบินได้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับระบบตั๋วร่วมนั้น เพื่อเพิ่มความสะดวกประชาชน หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อแก้ปัญหาหารจราจรติดขัด และลดมลพิษปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขต กทม. และปริมณฑล สำหรับการเร่งรัดใช้ระบบตั๋วร่วมนั้น ขณะนี้ รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. 2563 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ

นอกจากนี้ ตนยังได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมองค์กร เพื่อกำหนดมาตรฐาน และรูปแบบบัตรโดยสารร่วม และ 2.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสาร และการจัดสรรรายได้ เพื่อกำหนดมาตรฐานของอัตราค่าโดยสารร่วม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดสามารถศึกษารูปแบบออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถดำเนินการให้ประชาชนได้ใช้ระบบตั๋วร่วมในเร็ว ๆ นี้

Related Posts

Send this to a friend