‘ดีอี’ ระดมหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
‘ดีอี’ ดำเนินโครงการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระดมหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สิน
วันนี้ (26 มิ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การใช้งานระบบสำหรับประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมฯ’ ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ว่า กระทรวงดีอี เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการต่อสู้กับข่าวปลอม โดยพัฒนาเครือข่าย fact checking แก้ปัญหาข่าวปลอม และช่วยยืนยันข้อเท็จจริง สำหรับประชาชน
สำหรับการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ใช้เครื่องมือ social listening tool คัดกรองข้อมูลที่เปิดเผยบนพื้นที่สาธารณะ จำนวน 95 ล้านข้อความต่อเดือน มีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 2.9 หมื่นข้อความ เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 791 เรื่อง ซึ่งจะส่งเข้าสู่ระบบ fact checking ซึ่งได้รับผลการตรวจสอบแล้ว 444 เรื่อง และได้ทำการเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว 215 เรื่องต่อเดือน (ข่าวปลอม 152 เรื่อง ข่าวจริง 50 เรื่อง ข่าวบิดเบือน 13 เรื่อง)
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีมีนโยบายสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 3 เรื่อง คือ
1.ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ พัฒนาเทคนิควิธีการและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ นำเอาระบบ AI มาใช้ในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร และข้อความ ที่มีการกล่าวถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ
2.เร่งแก้ปัญหาข่าวปลอมในหมวดอาชญากรรมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำการเผยแพร่ต่อ ๆ กัน จนกระทั่งสูญเสียทรัพย์สินส่วนบุคคล และสร้างความเดือดร้อนอย่างเป็นวงกว้างในสังคม โดยเผยแพร่ข่าวเตือนภัย 155 ข่าวต่อเดือน เข้าถึงประชาชน 18.6 ล้านครั้งต่อเดือน
3.ขยายเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งเครือข่าย fact checking และเครือข่ายให้ความรู้และแจ้งเตือนข่าวปลอม โดยความร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดช่องทางการให้ความรู้และแจ้งเตือนภัยจากข่าวปลอมหรือภัยออนไลน์สำคัญ ผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยมีสถิติการแจ้งเตือน การเข้าถึงของประชาชนมากกว่า 22 ล้านครั้งต่อเดือน