POLITICS

‘พรเพ็ญ’ เตรียมข้อเสนอด้าน ความปลอดภัย – ชีวิต – ทรัพย์สิน ต่อคณะทำงานย่อยสันติภาพชายแดนใต้

วันนี้ (26 มิ.ย. 66) นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนการประชุมคณะทำงานย่อยของ 8 พรรคร่วมในเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ตนเองขอบคุณพรรคประชาชาติเป็นการเฉพาะที่รับร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายเข้าสู่สภาเป็นพรรคแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กว่าจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทั้งส.ส., ส.ว. จนประกาศราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ก็ใช้เวลานาน ซึ่งประชาชน ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ พ.ร.บ. นี้เกิดขึ้นจริง ตอนนี้กฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศ มีการติดกล้องบันทึกการจับกุม การส่งตัวต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสิทธิของประชาชนทุกคนที่ถูกจับทั่วประเทศ เป็นประโยชน์จากทุกคน

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวต่อว่า ส่วนวันนี้ตนเองมาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ หรือข้อเสนอจากภาคประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมการการรองรับข้อสเนอต่อรัฐบาลใหม่ เราก็หวังว่าเสียงนี้จะไปถึงรัฐบาลใหม่ จะ 100 วันแรก หรือ 1 ปี ก็อยากให้ไม่เหมือนเดิม ให้ประชาชนมีเสียง รวมถึงข้อเสนอที่เกี่ยวกับชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัย วัฒนธรรม สิทธิในการแสดงออกของพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงไป

“วันนี้มีเหตุเรื่องวาระการประชุมเฉพาะเรื่องสังคม วัฒนธรรม ในมุมนักสิทธิมนุษยชน ในเรื่องการเลือกปฏอบัติทางเชื้อชาติ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิทางวัฒนธรรม การแต่งกายชุดมลายูการพูดภาษามลายู การเมืองวัฒนธรรมเป็นเสรีภาพที่ควรทำได้ และเป็นส่วนสำคัญในการเขียนนโยบาย เพราะหลายครั้งบ้านเมืองเอากฎหมายมาเป็นกรอบในการแสดงออก ซึ่งบางกฎหมายอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางเรื่อง”

ส่วนกรณีการแจ้งความกลุ่มขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ นักกิจกรรมทางการเมือง และนักการเมืองนั้น นางสาวพรเพ็ญ ระบุว่า การพูดคุยเรื่องรูปแบบการเมืองการปกครองมีได้ในทุกมิติ ทุกที่ ซึ่งเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ในการแสดงออกทางความคิดเห็น บางประเทศเอาเรื่องนี้มาออกแบบเป็นกฎหมายอาญา ก็ต้องแก้ไข ถ้าหมิ่นประมาทผู้ใดผู้หนึ่ง หรือขัดต่อกฎหมายใด ต้องมาคุยกัน หากผิดทางแพ่งก็ฟ้องทางแพ่ง แต่การตั้งหลักดำเนินคดีอาญากับผู้ที่แสดงความเห็นนั้นไม่ได้

นางสาวพรเพ็ญ ระบุว่า การแสดงออกมีหลายรูปแบบ เราเคยแสดงออกในการรณรงค์เรื่องการป้องกันการทรมานอุ้มหาย ก็เคยคดีจากทาง กอ.รมน. ซึ่งสุดท้ายเขาก็ถอนแจ้งความ ครั้งนี้จึงมองว่า สุดท้ายคดีนี้ก็คงถอนฟ้อง แต่การตั้งหลักฟ้องในขณะที่รอรัฐบาลใหม่ เป็นการฉวยโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการใช้สิทธิเสรีภาพ

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการแจ้งข้อหากบฏ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 กับกลุ่มนักศึกษานั้น ส่งผลอย่างไร นางสาวพรเพ็ญ ระบุว่า การตั้งข้อหาลักษณะนี้มีมา 18 ปีแล้ว ในคดีความมั่นคงกว่าพันคดี ทนายต้องต่อสู้ว่าไม่ใช่ข้อหากบฏ โดยคดีนี้น่าสนใจเพราะไม่มีข้อหาเรื่องความรุนแรง แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็นทั้งหมด มีหลายขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องฝ่าไปให้ได้ ทั้งตำรวจ ศาล กอ.รมน. จะเลือกไม่สั่งฟ้องก็ได้

ทั้งนี้ นางสาวพรเพ็ญ ยังระบุอีกว่า ตนเองมีความกังวล เป็นห่วงเพราะความรุนแรงทางกายภาพในพื้นที่ยังมีคู่ขัดแย้งค่อนข้างชัดเจน เลยให้คนที่เชื่อมั่นกระบวนการในสภา ที่ไปออกเสียงเลือกตั้งมาแล้ว อยากให้ทางทหาร กอ.รมน. หน่วยงานความมั่นคง เชื่อในกระบวนการทางการเมืองรัฐสภา อย่าไปแจ้งความในข้อหากบฏ เพราะระหว่างที่เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

Related Posts

Send this to a friend