POLITICS

‘กรณ์’ ย้ำจุดยืน ‘เกลียดการผูกขาดทุกรูปแบบ’

ชี้ ต้องปฏิรูปการศึกษา เรียนอย่างน้อย 3 ภาษา เพิ่มโอกาสพัฒนาการศึกษาไทย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติพัฒนากล้า ร่วมเวทีดีเบต ‘เลือกตั้ง 66 END GAME เกมที่แพ้ไม่ได้’ ซึ่งจัดโดย The Standard เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 โดยกล่าวว่า ประชาชนอาจจะรู้จักตนในฐานะรัฐมนตรีคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า แต่หลายคนไม่รู้ว่าตอนทำงานการเมืองตนรักอะไร และเกลียดอะไรมากที่สุด สิ่งที่รักมากที่สุดคือการสร้างโอกาสด้วยการแข่งขัน โดยมองว่าทุกคนเกิดมารวยได้ จนได้ แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในชีวิตด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรม

“สิ่งที่ผมเกลียดที่สุดคือการผูกขาดทุกรูปแบบ ผมไม่ได้มีปัญหากับทุนใหญ่ แต่ผมมีปัญหากับทุนผูกขาด ผมสู้เรื่องนี้มาตลอดชีวิตการทำงานของผม เมื่อสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี ผมระงับความพยายามของ ปตท. ที่จะเข้าไปซื้อ โมเดิร์นเทรด เพราะผมกังวลว่าจะนำไปสู่การผูกขาด ผมเพิ่มใบอนุญาตธนาคารที่ต้องการจะเพิ่มการแข่งขัน ลดดอกเบี้ย จนผมพ้นตำแหน่ง ผมก็ยังสู้กับเรื่องนี้ต่อไป เมื่อผมตั้งพรรคการเมืองร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ และสู้กับเรื่องของต้นทุนพลังงานและค่าไฟมาโดยตลอด ฉะนั้นสิ่งที่ชาติพัฒนากล้าจะมาสู้วันนี้ คือสู้กับทุนผูกขาดที่ครอบงำการเมือง หลายคนอาจจะข้องใจว่าเราทำได้หรือไม่ แต่ถ้าเลือกชาติพัฒนากล้า เลือกผม เราจะสู้แทนคุณกับทุนผูกขาดเพื่อคุณ” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า พรรคชาติพัฒนากล้าเป็นพรรคโอกาสนิยมที่เน้นเรื่องการสร้างโอกาสให้ทุกคนมีความก้าวหน้าในชีวิต ให้โอกาสทุกคนแข่งขันอย่างเป็นธรรม และตระหนักเสมอว่าในโลกของการแข่งขันจะมีผู้ที่แข่งไม่ได้ ต้องมีสิทธิ์ได้รับการดูแลโดยภาครัฐ สำหรับการเปรียบเปรยกับระบบรัฐสวัสดิการของประเทศสแกนดิเนเวียนั้น มองว่าเป็นการแจกรายได้ให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงโอกาสความร่ำรวยหรือความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นเพียงอุดมคติที่ยังทำไม่ได้ เนื่องจากประเทศสแกนดิเนเวียมีภาษีประมาณ 55% ของ GDP ในขณะที่ไทยมีรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP เพียงแค่ 16-17% หากไปถึงจุดนั้นต้องเพิ่มภาษี ซึ่งยังไม่พร้อม

นายกรณ์ กล่าวถึงนโยบายการศึกษา ว่า การศึกษาถูกพูดถึงน้อยมาก ข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ทุกพรรครู้คือ นโยบายการศึกษาไม่สามารถทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ ประเด็นการศึกษาของไทยเป็นสาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อย ปีละ 1 ท่าน เราพูดถึงการศึกษาด้วยการโฟกัสที่เรื่องดราม่า สงครามวัฒนธรรม แทนที่จะพูดถึงปัญหา สาระสำคัญของระบบการศึกษา และยอมรับว่าการศึกษาของไทยขาดการพัฒนา

“ผมมักจะพูดถึงโอกาสและการสร้างโอกาสเสมอ ไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือเกิดมาจน ต้องมีโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าทางการศึกษา วันนี้ข้อเท็จจริงก็คือ การศึกษาที่ดีต้องใช้เงินซื้อในประเทศไทย เรื่องของการเข้าถึงการศึกษาที่ดีควรจะเป็นประเด็นที่เราควรจะหยิบยกมาพูดมากที่สุด การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เราพูดกันมาเยอะแล้ว แต่มันไปไม่ถึงไหนสักที เรื่องภาษาไทยสำคัญแน่นอน แต่มันไม่พอ ยุคสมัยนี้ถึงบอกว่าต้องเรียนอย่างน้อย 3 ภาษา ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออังกฤษก็ได้ เพราะประเทศเราเป็นประเทศค้าขาย มีนักท่องเที่ยวภาษาที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาษาคอมพิวเตอร์ Coding ไม่อยากเห็นการทะเลาะกันในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม แต่ควรทะเลาะเรื่องของสาระ” นายกรณ์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend