POLITICS

กมธ.ต่างประเทศ แนะรัฐไทยเลิกเป็นสนลู่ลม มีบทบาทนำ สร้างสันติภาพเมียนมา

กมธ.ต่างประเทศ จัดเสวนา แนะรัฐไทยเลิกเป็นสนลู่ลม มีบทบาทนำ สร้างสันติภาพเมียนมา

วันนี้ (26 ม.ค.67) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จัดเสวนาเรื่องการต่างประเทศ ความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-1 อาคารรัฐสภา ดำเนินรายการโดย นางสาวกุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา

นายนพดล ปัทมะ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดเวทีเสวนาว่าเวทีนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระดมความคิด ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง กมธ.ต่างประเทศฯ ได้ผลักดันทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทย โดยการเสวนาวันนี้จะเป็นการเติมเต็มโดยผู้รู้ ร่วมกันตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบว่า นโยบายต่างประเทศของประเทศไทยในขณะนี้ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่ ระเบียบโลกใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร และเราจะปรับตัวให้สอดคล้องอย่างไรเพื่อที่จะตักตวงผลประโยชน์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ฉายภาพรวมสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ระบุว่าวันนี้เป็นวันที่ 702 ของสงครามยูเครน และเป็นวันที่ 112 ของสงครามกาซา ภาพรวมโลกตั้งแต่ปี 2022 คือ Permanent Crisis อยู่ในภาวะวิกฤตแบบถาวร ปัจจุบันโลกก้าวสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ หรือสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งปีนี้จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน รัสเซีย-ยูเครน อินเดีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

ดังนั้นไทยต้องคิดใคร่ครวญแสดงจุดยืน โดยไม่ยึดติดผลประโยชน์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล กำหนดนโยบายต่างประเทศด้วยความใส่ใจรอบคอบ ไม่เอาผลประโยชน์ของรัฐไทยต้องไม่แขวนอยู่บนมหาอำนาจ ริเริ่มนโยบายต่างประเทศใหม่ หลังพ้นการเลือกตั้ง โดยไม่ยึดติดกับวาทกรรม “สนลู่ลม” หรือ “ไทยจะเป็นกลาง ไทยไม่เลือกข้าง” มีบทบาทนำในการสร้างสันติภาพเมียนมา ไม่ใช่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ กล่าวว่าโดยพื้นฐานโลกนั้นไร้ระเบียบ และปะทุขึ้นมาเป็นความขัดแย้ง ยกตัวอย่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ที่หลายคนบอกว่าเป็นสงครามเย็นใหม่ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่สงครามใหม่ แต่เป็นสงครามที่ต่อเนื่อง ต่อสู้กันด้วยเทคโนโลยีและการลงทุน

รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ กล่าวว่าปัจจุบันระเบียบโลกชุดใหม่กำลังเจอกับระเบียบชุดเดิม เราอยู่ในหมากรุกที่มี 3 กระดาน กระดานบนสุด สองมหาอำนาจ (G2) เปลี่ยนจากขั้วเดียว เป็นระเบียบเป็นสองขั้ว เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ส่วนกระดานกลางคือโลกหลายขั้วอำนาจ ที่เน้นพหุภาคีนิยม กระดานสุดท้ายคือ สงครามที่ซับซ้อน เกิดความท้าทายของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และสงคราม

มหาอำนาจ สหรัฐฯ และจีนแข่งขันกัน สลับมิตรกันมากขึ้น มีการแข่งขันกันด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามดินแดน สงครามความไว้เนื้อเชื่อใจ และการไม่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ทั้งนี้รัฐขนาดเล็กจะมีท่าทีเลือกข้างมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นระบบพันธมิตรที่ชัดเจน

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ กล่าวถึงนโยบายของไทยที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา หลาย 10 ปีที่ผ่านมานโยบายไทยไม่มีทฤษฎีที่รองรับชัดเจน เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมามีผลกระทบต่อไทย ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานความมั่นคงของไทยจะมองเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ หลายฝ่ายพยายามขับเคลื่อนให้ไทยกลับมามีบทบาทในอาเซียน โดยใช้ประเด็นเมียนมาเป็นตัวขับเคลื่อน แต่รัฐไทยยังคงประเมินสถานการณ์เมียนมาว่าเหมือนเดิม เป็นองค์ความรู้ชุดเดิม ไม่มีวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ เราชินกับการเป็นไผ่ลู่ลม ซึ่งไทยจะต้องรู้จักจุดยืน และเป้าหมายของตนเองในสถานการณ์นี้ เพราะไทยเป็นประเทศเดียวที่มีข้อมูล และเข้าถึงผู้มีอำนาจของเมียนมาได้

ผศ.ดร.ลลิตา มองว่าสถานการณ์ในเมียนมา เป็นสงครามการเมืองที่มีมาตั้งแต่ 80 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีสงครามการเมืองต่อเนื่อง ไม่มีวันไหนหรือวินาทีไหนที่ไม่มีสงคราม และยังไม่เห็นวันที่จะมีจุดสิ้นสุด

Related Posts

Send this to a friend