POLITICS

‘เครือข่ายแรงงานฯ’ รวมตัวเรียกร้องรัฐเยียวยาแรงงานหน้าทำเนียบ ชี้ต้องเยียวยาประชาชนทุกคน 5,000 บาท 3 เดือน

วันนี้ (26 ม.ค. 64) บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ประชาชนจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการเยียวยาแรงงานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่อาศัยภายในประเทศ หลังจากออกมาเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา
 
สำหรับบรรยากาศกิจกรรมในวันนี้ เริ่มต้นขึ้นในเวลา 10.00 น. ก่อนจะไปสิ้นสุดเวลาประมาณ 12.00 น. โดยมีการปราศรัยจากตัวแทนแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ตัวแทนจากเครือข่ายศิลปิน นักเรียน และแรงงานผู้ประกันตน ม.33 ซึ่ง นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยกับประชาชนด้วย
 
อย่างไรก็ตาม น.ส.ธนพร วิจันทร์ ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 ที่เห็นชอบโครงการ “เราชนะ” เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้นจะจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนรวม 7,000 บาทต่อคนทั้งหมด 31.1 ล้านคน โดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยคล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสด และจะโอนผ่านแอพพลิเคชั่นสัปดาห์ละครั้งจนครบ สิ่งนี้ทำให้เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนคับข้องใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำแถลงของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่กล่าวว่าไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงิน เพราะโควิดเข้ามาปะปนได้และต้องการให้ประชาชนปรับตัวเป็นสังคมไร้เงินสดและถ้าให้เป็นเงินสดรัฐบาลจะ จำกัด อะไรไม่ได้เลยเงินเหล่านั้นจะหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น สุรา การพนัน ห้างร้านขนาดใหญ่ และการจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาทเพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการใช้เงินที่จำเป็นต่อชีวิต
จะเห็นว่าวิธีคิดของรัฐบาลเหมือนอยู่โลกคนละใบกับผู้ใช้แรงงานที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละคนอยู่แล้ว เช่น จ่ายค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ และต้องการควบคุมอำนาจการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งมีลักษณะเผด็จการ เห็นได้จากมาตรการเยียวยารอบสองของรัฐบาลที่ยังคงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง คือ แรงงานในระบบประกันสังคม ม. 33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน
 
รัฐต้องเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมราว 1.5 ล้านคน และนายจ้างร่วมสมทบเงินประกันสังคม เพราะพวกเขากำลังเผชิญปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดรอบแรก เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ การผลักให้พวกเขาไปใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งเป็นเงินของลูกจ้างตามประกาศของกระทรวงแรงงาน (จ่าย 629% ของค่าจ้างพื้นฐานและ 50% ในรอบสอง) ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิ เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบ บริษัท หรือโรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง จึงพบเห็นว่ามีหลายบริษัทปรับโครงสร้างลดต้นทุน โยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนว่างงาน ซึ่งควรจ่าย 75% ตามกฎหมายแรงงาน และรัฐควรทดแทนรายได้ให้ครบ 100% แต่กลับไม่ทำไม่ว่าในกรณีใด ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการหลายกรณี ถูกลดวันทำงาน โอที และค่าจ้าง รวมถึงถูกปรับสภาพการจ้างงานให้ยึดหยุ่นกว่าเดิมคือ No work no pay และเมื่อตกงานอยู่ระหว่างเปลี่ยนสถานะ ผู้ประกันตนเป็นแรงงานนอกระบบกลายเป็นช่องว่างไม่ได้รับเงินเยียวยา หลายรายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกเบี้ยวค่าจ้าง ค่าชดเชย ต้องเป็นภาระไปฟ้องศาลท้าย สุดลูกจ้างเป็นหนี้มากขึ้นแทนที่รัฐจะแบกหนี้เหล่านี้
ทั้งนี้ น.ส.ธนพร ทิ้งท้ายว่า “เราต้องการให้รัฐใช้หลักคิดถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่กำหนดเงื่อนไขให้ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน เพราะผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆ ของรัฐกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่แรงงานทุกภาคส่วน เช่น ภาคศิลปวัฒนธรรม คนทำงานกลางคืน แรงงานข้ามชาติ ทั้งในและนอกระบบต้องได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน หากงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องพิจารณานำงบกองทัพที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย และเพิ่มฐานภาษีความมั่งคั่งจากมหาเศรษฐีของประเทศ เพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน 99% ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกาลเทศะมากกว่าหาเรื่องปวดหัวรายวันให้ประชาชน”
 

Related Posts

Send this to a friend