POLITICS

นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามแผนการระบายน้ำ และสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุและร่องมรสุมอย่างใกล้ชิด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และแผนปฎิบัติการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เร่งดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจสอบ ติดตาม สั่งการเรื่องสถานการณ์น้ำในประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการระบายน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจถึงสาเหตุน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำ ให้ประชาชนเข้าใจ

โดยตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นและร่องมรสุมหลายลูกด้วยกัน ส่งผลกระทบทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ (1 มกราคม – 22 ตุลาคม) ในปี 2565 เฉลี่ยสะสม 1,755 มม. มีปริมาณน้อยกว่าในปี 2554 เล็กน้อย (-0.2%) ซึ่งเฉลี่ยสะสมที่ 1,778 มม.

ทั้งนี้ เกณฑ์ในการบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนและให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ได้ดำเนินการดังนี้

(1) ควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา +17.50 ม. ถึง +17.70 ม. ระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

(2) เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก และลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักก่อนลงสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา

(3) ลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่ง หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อนออกอ่าวไทย และ

(4) ควบคุมปริมาณน้ำสถานี C.29A (บางไทร) ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที เพื่อบริหารความเสี่ยง ปริมาณน้ำไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที

สาเหตุที่ระบายออกฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกได้น้อยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ต้นคลองใหญ่ ส่วนปลายคลองเล็ก ซึ่งต้นคลองไม่มีปัญหา แต่ปลายคลองมีน้ำท่วมอยู่แล้วจากปริมาณฝนตกในพื้นที่ รวมทั้งมี side flow มาเติม ทำให้เกิดน้ำล้นคลอง และคันคลองขาด และไม่สามารถใช้ในการควบคุมน้ำได้ โดยคลองชัยนาท–ป่าสัก มีความจุคลอง ที่ต้นคลอง 210 ลบ.ม./วินาที และปลายคลอง 120 ลบ.ม./วินาที จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินศักยภาพของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำล้น / คันขาด

โดยภายหลังน้ำลด กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะได้ประเมินและชี้เป้าพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลง และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันควบคุมป้องกัน แก้ไข ระงับหรือบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งดำเนินการฟื้นฟู จัดทำแผนชี้เป้าพื้นที่น้ำลด จัดทำแผนการระบายน้ำและเร่งสูบน้ำ และจัดทำแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่น้ำท่วม

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดำเนินการจัดการน้ำในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ประเมินสถานการณ์ ศึกษา เพื่อสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเพื่อป้องกัน บรรเทา และลดผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหาอุทกภัยอย่างทันท่วงที ซึ่งจากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามแผนการระบายน้ำ และสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุและร่องมรสุมต่างๆอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และแผนปฎิบัติการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือการเร่งดูแล และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่ประสบเหตุน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้” นายอนุชา กล่าว

Related Posts

Send this to a friend