POLITICS

‘ทนายเสื้อแดง’ ชี้ สว.รักษาการ ยังอยู่เลือกนายกฯ ได้ ลั่น “คิดผิด คิดใหม่” หวั่นอาจลากยาวถึง 2 ปี

วันนี้ (25 ก.ค. 66) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้รออีก 10 เดือน เพื่อให้ สว.หมดวาระ ก่อนค่อยเลือกนายกฯ โดยระบุว่า “คิดผิด คิดใหม่” เนื่องจาก สว.ไม่ได้อยู่อีกแค่อีก 10 เดือน และ สว.รักษาการยังมีสิทธิ์เลือกนายกฯ ได้

แม้รัฐธรรมนูญ 60 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 250 ส.ว. ไว้ 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แต่ตราบใดที่ยังไม่มี สว.ชุดใหม่ สว.ชุดเดิมจะยังคงรักษาการต่อไป จนกว่า สว.ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่ง เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 269(6) + 109

คำว่ารักษาการนั้น เมื่อดูรัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีบทบัญญัติและบทเฉพาะกาลใด “ห้าม” สว.รักษาการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้ในประเด็นนี้จะมีความเห็นต่าง แต่เป็นความเห็นทางกฎหมาย อาจมีนักร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ยิ่งกว่านั้น เมื่อดูตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 มีกระบวนการ ขั้นตอนมาก อาจใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจ 1 ปี ได้ ฉะนั้น คาดว่า สว. ชุดนี้จะอยู่ได้อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งปีครึ่ง หรือสองปีเป็นอย่างน้อย “พรรคการเมืองรอได้ แต่ประชาชนและประเทศชาติ รอไม่ได้”

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ระบุว่า การรอ 10 เดือน เพื่อให้ สว.ชุดนี้ พ้นวาระ “น่าจะเข้าใจผิดกันไปใหญ่” รัฐธรรมนูญ 60 ม.109 วรรคสาม บัญญัติว่า “เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่” ชัดเจนว่า บทบัญญัตินี้ ให้การพ้นหน้าที่จะครบวาระจริง ๆ ก็ต่อเมื่อมี สว.ชุดใหม่ขึ้นมาแล้ว

การที่จะมี สว.ชุดใหม่มาได้ ต้องให้ชุดเดิมอยู่รักษาการณ์ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ 60 ม.296(6) ดังนั้น สว. 250 คนที่ คสช.เสนอแต่งตั้งขึ้นนี้ แม้ในระหว่างรักษาการตาม ม.109 วรรคสามก็ตาม จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีบัญญัติเป็นข้อห้าม มิให้ สว.ชุดเดิมโหวตนายกรัฐมนตรีไว้เลย จึงเข้าใจว่า สว.ยังโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นแคนดิเดตได้อยู่

“อย่าหลงประเด็นเข้าใจผิดนะครับ งานนี้ ใครอยากรอ ก็รอไป แต่ต้องอ่านทางอ่านกฎหมายให้ดี ทั้งนี้ควรตั้งรัฐบาลให้ได้ ให้ประเทศเดินหน้า คือหนทางที่ดีกว่า” นายวิญญัติ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend