POLITICS

7 พรรคการเมือง ฟังเสียงคนจน-เกษตรกรอีสาน

7 พรรคการเมือง ฟังเสียงคนจน-เกษตรกรอีสาน รับปากดันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสิทธิทำกิน – ประชาธิปัตย์ระบุต้องอาศัยมติพรรค

วันนี้ (25 เม.ย. 65) ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สมัชชาคนจนจัดเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “สิทธิเกษตรกร สินค้าราคาแพง ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร” โดยมีผู้แทนภาคประชาชนและเครือข่ายเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมเสนอปัญหาและแนวนโยบายใน 7 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นสิทธิเกษตรกร ประเด็นสุราพื้นบ้าน ประเด็นที่ดินทำกิน ประเด็นทรัพยากรน้ำ ประเด็นคนจนเมือง ประเด็นความหลากหลายทางเพศ และประเด็นเหมืองแร่

นายรุ่งโรจน์ ขจัดโรคา ผู้แทนประเด็นสิทธิเกษตรกร เสนอว่า ปัญหาต่อพี่น้องเกษตรกรคือทั้งต้นทุนการผลิตสูง นโยบายภาครัฐไม่ส่งเสริมเกษตรกร ประชาชนไม่มีช่องทางมีส่วนร่วม กฎหมายมีการควบคุมการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม จึงควรมีการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการยกร่าง โดยมีประเด็นสำคัญคือประชาชนมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง กระจายอำนาจสู่ชุมชน และมีระบบภาษีที่เป็นธรรม

นายอุทัย สอาดชอบ ผู้แทนประเด็นสุราพื้นบ้าน เสนอว่า สุราพื้นบ้านในปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการผลิตอยู่ทั้งที่เป็นภูมิปัญญาในหลายท้องถิ่นที่ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ ลดรายจ่ายในการซื้อสุรา ทางกลุ่มประเด็นสุราพื้นบ้านจึงมีข้อเสนอ ให้รัฐรับรองสิทธิของประชาชนในการผลิตสุราพื้นบ้านให้ได้ทุกครัวเรือน พร้อมทั้งลดภาษีสรรพสามิตให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้

นายเงิน บุญเกิด นำเสนอปัญหาที่ดินว่า ปัจจุบันเกษตรกรประสบกับปัญหาที่ดินทำกินถูกทับซ้อนด้วยที่ดินสาธารณะ พื้นที่ป่าสงวน เขตป่าอนุรักษ์ หรือถูกไล่รื้อเผาบ้านออกจากที่ดินทำกิน ตลอดจนได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โพรแทส จึงเสนอให้มีการจัดการถือครองที่ดิน สนับสนุนธนาคารที่ดินให้ชาวบ้านเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น และมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้มากขึ้น

นายชุมพร เสนอประเด็นทรัพยากรน้ำไปในทางเดียวกันว่า กฎหมายปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชน ประชาชนไม่มีช่องทางการมีส่วนร่วม ไม่มีน้ำใช้ และโครงสร้างของระบบราชการใหญ่เกินไป จึงมีข้อเสนอคือให้ชุมชนมีอำนาจในการออกแบบและจัดการระบบน้ำของตนเอง สิทธิชุมชนต้องถูกรับรองในข้อกฎหมายชัดเจน คืนแม่น้ำให้ไหลตามธรรมชาติ ประชาชนต้องมีสิทธิร้องเรียนหน่วยงานรัฐได้ แก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง และให้มีการเลือกตั้งในระบบพื้นที่ เพื่อกระจายทั้งอำนาจและงบประมาณ

นางสุดใจ ผู้แทนประเด็นคนจนเมือง เสนอนโยบายเพื่อคนจนเมืองว่า ประชาชนทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยโดยรัฐต้องจัดสรรให้ โฉนดชุมชนต้องมีผลทางกฎหมาย ชาวบ้านต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง สนับสนุนสหกรณ์และกองทุนชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างรัฐสวัสดิการ จัดสรรมี่ดินว่างเปล่าให้ชุมชนใช้ประโยชน์ พร้อมกระจายอำนาจระดับท้องถิ่นถึงระดับชุมชน

นายก้าวหน้า และนายศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้แทนประเด็นความหลากหลายทางเพศ เสนอว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศผลักดันประเด็นการสมรสเท่าเทียมมาตลอด โดยยืนยันว่าต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมเสมอกันไม่ใช่การออกกฎหมายคุ้มครองให้เป็นกรณีพิเศษอย่างร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พร้อมกับควรมีการขยายสิทธิพลเมือง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข สิทธิในการประกอบอาชีพบริการทางเพศด้วย

นางพรทิพย์ หงษ์ชัย ผู้แทนประเด็นเหมืองแร่ ซึ่งประสบปัญหาหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอแนะนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต้องมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการอนุมัติโครงการเหมืองแร่ต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ตนเอง เมื่อเกิดผลกระทบจากการทำเหมืองก็ต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกคำสั่งหยุดและทบทวนการทำเหมืองทันที ส่วนเหมืองแร่ที่ทำแล้วสร้างผลกระทบก็ต้องฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านทันทีและเป็นธรรม พร้อมยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกยุทธศาสตร์แร่ และยกเลิกแผนแม่บทบริหารจัดการแร่

ขณะเดียวกันมีผู้แทนจากพรรคการเมืองจำนวน 7 พรรคการเมือง ร่วมรับฟังและกล่าวตอบรับข้อเสนอ ดังนี้

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย กล่าวว่า ปัญหาหลักคือรัฐไม่เชื่อมั่นในเกษตรกรให้ทำมาหากินของตัวเอง ที่ผ่านมาด้วยกฎระเบียบในการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนก็กลับเป็นอุปสรรคที่ไม่ให้ประชาชนทำมาหากิน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลคือการขาดกฎหมายรับรองสุราก้าวหน้าและร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่พรรคผลักดันมาตลอด พร้อมทั้งประเด็นคนจนเมืองและที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันต่อไป

“เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนทำมาหากินด้วยกฎหมายที่กดทับประชาชนเช่นนี้ ขอให้คุณกดดัน ส.ส. ทั้งบัญชีรายชื่อและเขตของตนเองในการผลักดันร่างกฎหมายต่อไป” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรคือยุ้งฉางของแผ่นดิน และที่ดินคือเงินของประชาชน ถ้าเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน อย่าหวังเลยว่าเกษตรกรจะทำเกษตรได้ ดังนั้น ที่ดินคือเงินทองที่จะงอกงามมาเป็นผลผลิตอาหารมาเลี้ยงสังคม ตราบใดที่คนขยัน ที่ดินก็จะมีหน้าที่ผลิตเงินให้กับคนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงต้องทำที่ดินให้เป็นสวัสดิการสังคม ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ที่ดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้ได้

“อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่รัฐธรรมนูญนี้เกลียดชัง วันนี้ที่ดินมาอยู่ในมือรัฐ ที่รัฐมีความคิดเป็นอำนาจนิยม หัวใจสำคัญที่สุดที่เลวที่สุดต้องกล้าเอาสิทธิชุมชนขึ้นนมา ต้องเลิกรัฐรวมศูนย์ เอาชุมชนเป็นศูนย์กลางให้ได้ วันนี้รัฐยังดูถูกสติปัญญาประชาชน ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต้องอยู่รับใช้ประชาชน” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

นายชอบเรียน วงศ์ศิริ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เวลาที่น้อยเช่นนี้ไม่สามารถทำให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไปเปลี่ยนกระแสสังคมได้ อยากขอเวลาเพิ่มให้พี่น้องได้พูดปัญหาความจริงมากกว่านี้ สิ่งเดียวที่ช่วยเหลือประชาชนได้ตอนนี้คือการประกันรายได้ ไม่ใช่นโยบายการจำนำข้าวที่แค่ชื่อก็โกงแล้ว

“ชีวิตมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เป็น ส.ส. ไม่ได้หมายความว่าจะแก้กฎหมายได้เลย แต่มันมีหลายส่วนที่ต้องมาร่วมกันแก้ แต่บังเอิญความสามัคคีของคนในชาติมันไม่มี ในสภาฯ ก็ไม่มีด้วย ควรเรียกผู้ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงมารับฟังพี่น้องที่ควรจะได้พูดมากกว่านนี้จะดีกว่า” นายชอบเรียน กล่าว

นายชอบเรียน ยังกล่าว วันนี้มาในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประชาธิปัตย์ไม่ยกมือเพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำต้องเป็นมติ อาจช้าไม่ทันใจ แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมันสำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่จะแก้ ที่จะทำได้แบบพลิกฝ่ามือ รับปากพล่อย ๆ ว่าเราจะรับปากอย่างั้นอย่างนี้เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชชน ก็ถูกรับปากมาเยอะแล้ว พรรคเราจะต้องพิจารณาใคร่ครวญให้ดีที่สุด

นายธนชาติ ไชยทองพันธ์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการบริหารพื้นที่ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดมาจากการกดทับของระบบราชการ กับดักเหล่านี้ต้องใช้พลังที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน และพรรคไทยสร้างไทยก็มีนโยบาย ‘กิโยตินกฎหมาย’ ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน

“ถ้าผมมีโอกาสเข้าไปทำก็ต้องพยายามทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ หากเราปล่อยพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเราก็จะดักดานอยู่อย่างนี้ หากเรามีโอกาสเราก็จะผลักดันกองทุนเพื่อประชาชนต่อไป” นายธนชาติ กล่าว

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเราต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและโอกาสให้พี่น้องทุกกลุ่ม เราต้องการสร้างความเท่าเทียมกับพี่น้องทุกคน ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยอยู่กับพื้นที่ เข้าใจพี่น้องประชาชนตลอด เราไม่ใช่พรรคการเมืองขายฝัน เราทำมาตลอดและทำได้จริง

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชนินทร์ ชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทยสามารถยกมือยืนยันได้ทันที เพราะเราทำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เราไม่ได้พูดพล่อย ๆ หรือไม่คิดจะทำ สิ่งที่จะทำให้เราแก้ไขได้คือในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคเพื่อไทยจะต้องมีฐานเสียงมากพอให้เข้าไปมีอำนาจแก้ไขได้

“ประเทศไทยโดนปล้นอำนาจของประชาชนไปกว่า 8 ปี ด้วยปัญหารัฐธรรมนูญไม่ใช่ของประชาชนอย่างแท้จริง และรัฐบาลที่ไม่รับฟังและเห็นหัวประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงคาดหวังไปเป็นรัฐบาลและทำเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป” นายชนินทร์ กล่าว

นางสาวณัฐพร อาจหาญ กรรมการบริหารพรรคสามัญชน กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมาที่ประชาชนถูกปล้นอำนาจไป ถูกกดทับ ถูกกดขี่มาเป็นเวลายาวนาน เราเห็นแล้วว่าการไม่มีเสรีภาพในการดำรงชีวิตและในการกำหนดอนาคตของตนเองสร้างปัญหาให้กับเราแค่ไหน แม้จะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือแต่เรายืนยันได้ว่าไม่มีทางที่เราจะพัฒนาไปได้หากไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงในวันนี้ ดังนั้น พรรคสามัญชนจึงยืนยันสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ดร.สวาท สุทธิอาคาร ผู้แทนพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ทุกปัญหาที่พี่น้องเสนอมา เราจะต้องรับฟังเพื่อเข้าไปดูว่า นโยบายของพรรคการเมืองมีข้อไหนบ้างที่จะเอื้อและแก้ปัญหาให้พี่น้องได้ เพราะด้วยหลักแล้ว การกำหนดนโยบายของรัฐจะต้องผ่านการนำปัญหาของพี่น้องประชาชนเข้าไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมา อย่างพรรคเสรีรวมไทยก็มีนโยบายข้อหนึ่งในการจัดการที่ดินทำกินให้พี่น้องเกษตรกรด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามปลดล็อกการออกเอกสารสิทธิให้พี่น้องประชาชนทั้งจากที่ดินเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ใช้แล้วและที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน

ในช่วงท้าย รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าไปคิดว่าการช่วยเหลือภาคเกษตรกรจะไปยุ่งเหยิงกับกลไกตลาด ในเมื่อรัฐพยุงช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้ เหตุใดจึงจะช่วยเหลือภาคเกษตรกรที่เป็นรากเหง้าสำหรับการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและสังคมไทยไม่ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน

Related Posts

Send this to a friend