POLITICS

ปธน.เยอรมนี อวยพรรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ให้สำเร็จ

วันนี้ (25 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ภายหลังหารือข้อราชการ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า และหารือกับภาคเอกชน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ในโอกาสประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit)

ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ แถลงเป็นภาษาเยอรมันว่า ตามที่นายกฯ แถลงก่อนหน้านี้นั้นถูกต้อง เพราะไม่มีการเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการมานาน ส่วนตัวมีความตั้งใจมาเยือนประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว จึงขอขอบคุณประเทศไทยและนายกฯ สำหรับคำเชิญอย่างอบอุ่น

อย่างไรก็ตาม ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ กล่าวว่า ตนเองไม่ใช่ตัวแทนคนแรกของเยอรมนีที่มายังประเทศไทย ความสัมพันธ์ของสองประเทศไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่เรามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ยาวนานมากกว่า 160 ปี ด้วยข้อตกลงการค้า และการสำรวจเส้นทางการเดินเรือทางทะเล ความสัมพันธ์ของเราทั้งสองประเทศจึงข้ามระยะเวลามานาน

ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย เพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม มีประชาชนออกมาใช้สิทธิถึง 75% สะท้อนให้เห็นถึงระบอบประชาธิปไตย จึงขอกล่าวแสดงความยินดีกับนายกฯ เศรษฐา และอวยพรให้รัฐบาลของท่านประสบความสำเร็จ ทั้งยังยินดีที่การเยือนประเทศไทยครั้งนี้จะผลักดันความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้า และพัฒนาภาคีเครือข่ายต่อไปได้

ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ กล่าวว่า เยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าสหภาพยุโรปที่สำคัญที่สุดของไทย มีมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านยูโร ไทยมีบริษัทสัญชาติเยอรมันกว่า 600 แห่งที่สำคัญกับเศรษฐกิจ จึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนร่วมกัน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสองประเทศที่เหนียวแน่นในเชิงมิติเศรษฐกิจและการค้า

ส่วนมิติประชาชนของเราในช่วงหลายทศวรรษ มีการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างการเดินทางสองประเทศ ในทุกปีมีชาวเยอรมันหลายแสนคนมาท่องเที่ยวโดยใช้เวลาหลายเดือน บางส่วนประทับใจวัฒนธรรมและอาหารจนมีหลายคนตัดสินใจพำนักในประเทศไทย เช่นกันกับชาวไทยในเยอรมนี

จากการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องการปกป้องสภาพภูมิอากาศ โดยประสานการทำงานร่วมกัน เพราะถือเป็นประเด็นเร่งด่วนของเราทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค. 67) มีกำหนดเยี่ยมชมโครงการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนกับเกษตรกรรายย่อยของประเทศไทย ภายใต้แผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศสากล เราถือเป็นพันธมิตรทวิภาคีที่สำคัญที่สุดสำหรับงานด้านภูมิอากาศ ซึ่งการหารือนี้เป็นประโยชน์มหาศาล เพื่อบรรลุงานด้านการต่างประเทศ

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ กล่าวว่า หวังว่าสองประเทศบรรลุข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ในเวลาอันใกล้ หลังจากการสรุปข้อตกลงกันได้ก็จะเป็นโอกาสของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้าให้กับเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ เปิดเผยว่า ยังมีการหารือประเด็นสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ยินดีที่ได้หารือกับนายกฯ กันอย่างเปิดเผย ทั้งยังยินดีที่ได้ฟังข่าวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ด้วย ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเมืองไทย ตลอดจนมีการหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งนายกฯ ยังได้หารือประเด็นในภูมิภาค ที่สำคัญกับการไปหารือต่อที่กรุงเบอร์ลินต่อไป

Related Posts

Send this to a friend