‘ณัฐชา’ มอง ‘เศรษฐา’ พบ ‘ประยุทธ์’ มีดีลบางอย่าง จะชัดเจนผ่านหน้าตา ครม.
‘ณัฐชา’ มอง ‘เศรษฐา’ พบ ‘ประยุทธ์’ มีดีลบางอย่างนอกรอบ จะชัดเจนผ่านหน้าตาคณะรัฐมนตรี วัดความจริงใจเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญต้องมี สสร.จากการเลือกตั้ง 100% ยืนยันยังสนับสนุน ‘ปดิพัทธ์’ นั่งรองประธานสภาฯ มองตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเป็นเรื่องรอง
วันนี้ (24 ส.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้
นายณัฐชา กล่าวว่า การส่งมอบอำนาจไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่ครั้งนี้ถือเป็นอำนาจใหม่ที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และได้ยึดครองอำนาจมานานกว่า 9 ปี สุดท้ายก็มาส่งมอบอำนาจคืนให้กับพรรคเพื่อไทย เป็นกลไกที่เรายังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในหลายขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการเข้าพบเกี่ยวข้องกับเสียง สว. ที่โหวตเห็นชอบให้ด้วยหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า แน่นอนว่าหลังจากการจับมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ต้องมีเสียงสนับสนุนจากทางสมาชิกวุฒิสภาเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะช่วงเช้าในวันโหวตได้เช็คกับ สว. ก็ยังไม่มีสัญญาณ จนกระทั่งเวลา 11:00 น. ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะโหวตให้นายเศรษฐา หรือแม้กระทั่งบางคนก็อภิปรายชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้ โค้งสุดท้ายตอน 13:00 น. ก็มีสัญญาณไฟเขียว ว่าโหวตให้นายเศรษฐา เพราะฉะนั้นเวลา 11:00-13:00 น. ไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แน่นอนว่าต้องมีการเจรจากันนอกรอบ
เมื่อถามว่าการพูดคุยของ 2 นายกรัฐมนตรีจากที่เคยเป็น 2 ขั้วตรงข้าม เป็นนิมิตรหมายที่ดีหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า แน่นอนคำพูดว่าสมานฉันท์ปรองดองเป็นเรื่องที่ดี แต่คำว่าสมานฉันท์ปรองดอง เบื้องหลังมีการกระทำอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ให้ได้ว่าเบื้องหลังการสมานฉันท์ปรองดองของคนที่ขัดแย้งกันมาตลอดหลายสิบปี และสุดท้ายมาจับมือกัน บอกว่ามีการทลายความขัดแย้งที่ยาวนาน อยู่ดีๆ คนที่มีปัญหาหลายสิบปี จะจับมือกัน ต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ แต่ข้อตกลงนั้นคืออะไร ประชาชนยังไม่ทราบเท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความคาดหวังกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างไรหรือไม่ นายณัฐชา ระบุว่า เมื่อเห็นชื่อคณะรัฐมนตรีทั้ง 35 ท่าน ก็จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการเจรจาเบื้องหลัง มีการเจรจาต่อรองอย่างไรบ้าง และการเจรจานั้นจะส่งผลกระทบอะไรกับประชาชน หน้าตาคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการแต่ละกระทรวง จะเป็นคำตอบให้ประชาชน ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลนี้วางอยู่บนความไว้วางใจของประชาชนหรือไม่
ส่วนการทำงานวันนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายในฐานะที่เป็น สส.พรรคอันดับหนึ่ง 150 เสียง เดินหน้าทำงานแม้เป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ส่งกฎหมายที่เคยหาเสียงไปแล้วกับประชาชนไปยังรัฐบาลหลายด้าน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน บำนาญผู้สูงอายุ คาดหวังให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการตามความต้องการของประชาชน ไม่ว่าฝ่ายใด พรรคการเมืองใด ได้พูดเป็นเสียงเดียวกัน ก่อนการเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นหน้ารัฐบาลใหม่ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ยังเป็นไปได้หรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพูดคุยในการประชุม ครม. ในวาระแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้อย่างแน่นอนหากนายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจ แต่ความจริงใจนั้นต้องพิสูจน์ว่าที่มาที่ไปของคนแก้ ที่มาของ สสร.นั้นจะมาอย่างไร ก่อนเลือกตั้งเราพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% คือความจริงใจต่อประชาชนเป็นประเด็นหลัก ไม่ใช่แค่การแก้หรือไม่แก้ แต่ประเด็นอยู่ที่แก้โดยใคร และมีความจริงใจหรือไม่
เมื่อขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน มีความชัดเจนเรื่องตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านกับตำแหน่งรองประธานสภา แล้วหรือไม่นั้น นายณัฐชา ระบุว่า ยังคงให้รองประธานสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากเป็นกลไกที่ได้มาโดยชอบ โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 ส่วนกลไกที่มีกฎหมายบังคับไว้ว่า พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเป็นประธานหรือรองประธานสภาได้ ทำให้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะที่ก้ำกึ่งมาก
“เราจะพูดว่าเราเป็นฝ่ายค้านก็พูดได้ไม่เต็มปาก เราเลือกตั้งมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง เราขอประธานสภาฯ ก็ถูกกีดกัน ไม่ได้ประธานสภาฯ เราขอนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้นายกรัฐมนตรี ล่าสุดเราขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต่อมาเราขอเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังโดนกฎกติกาต่างๆ ไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน ณ สถานการณ์ต่อจากนี้ไป พรรคก้าวไกลคงอยู่ในสถานะฝ่ายค้านโดยการกระทำ โดยพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยนั้นยังไม่สามารถเป็นได้ เนื่องจากเรายังสนับสนุนให้รองฯปดิพัทธ์ สันติภาดา ได้ทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มความสามารถ เพราะอย่างน้อยกลไกการทำงานของนายปดิพัทธ์ ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประโยชน์ต่อการพัฒนาการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เรามองว่าเป็นเรื่องรองลงไป และประกอบกับหัวหน้าพรรค คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังยุติการปฏิบัติหน้าที่อยู่” นายณัฐชา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน จะทำให้พรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงรองลงมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า โดยกฎกติกาแล้วไม่มี เพราะต้องเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 ในฟากฝ่ายค้าน ดังนั้นพรรคอื่นๆ ไม่มีเสียงมากกว่าพรรคก้าวไกล หากพรรคก้าวไกลไม่นำเสนอผู้นำฝ่ายค้าน ก็ไม่มีพรรคอื่นที่จะได้ และยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้ เพราะยังมีทิศทางที่หลากหลายในพรรคประชาธิปัตย์
นายณัฐชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม อย่างเป็นทางการ เพราะการเป็นฝ่ายค้านไม่ต้องประกาศจัดตั้ง หรือลงนาม MOU ต่างๆ แต่การทำหน้าที่ สส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลเคยทำหน้าที่ใน 4 ปีที่ผ่านมา รอบนี้คงมีพรรคเป็นธรรมพรรคไทยสร้างไทย หรือพรรคอื่นมาร่วมด้วย
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลได้มีการวางคนในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ ไว้แล้วหรือยัง นายณัฐชา ระบุว่า ยังไม่มีการวางตัวว่าจะเป็นบุคคลใดเพราะยังไม่มีการพูดคุยจัดสรรปันส่วนว่าพรรคใดจะได้กรรมาธิการชุดใดซึ่งหลังจากการประชุมดังกล่าวพรรคก้าวไกลจะมีการประชุมเพื่อสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการในการทำหน้าที่ ในการทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้ตำแหน่งประธานประมาณ 12 คณะ ถือว่าเป็นสัดส่วนมากที่สุดเพราะมีจำนวน สส.เป็นอันดับหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคก้าวไกลจะเลือกตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน นายณัฐชา กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่เราจะเลือกอะไร แต่สถานะขณะนี้ เรายังคงไว้ซึ่งตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2 ยังไม่ต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะรองประธานคนที่ 2 ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นหัวหน้าพรรคโดยตำแหน่ง ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อยู่ระหว่างการยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เราไม่มีความประสงค์เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่น คงต้องว่างเว้นลงไป