POLITICS

‘อภิสิทธิ์-ปิยบุตร-โภคิน’ เห็นตรงกัน การเมืองไทยต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ชี้ต้องมีเนื้อหาสั้น เน้นความสัมพันธ์ภาครัฐกับประชาชน แนะต้องวางกติกาให้ยึดอำนาจไม่ได้ ส่วนกติกาเลือกตั้งควรอยู่ในกฎหมายประกอบ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเชิดชูครูกฎหมาย ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 11 มีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง 2566 : กฎกติกาทางรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับการเมืองไทย” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย นายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนา

นายโภคิน กล่าวว่า ปัญหาของประเทศเกิดจากการถูกขับเคลื่อนด้วย 3 ส่วน ศักดินานิยม อำนาจนิยม และประชาธิปไตย มีแกนหลักเป็นความคิดและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ส่งผลถึงระบบการศึกษาในระบบโซตัส เป็นวัฒนธรรมที่เกาะกิน ยกตัวอย่าง สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีการแบ่งสิงห์ดำ สิงห์แดง ตำรวจแบ่งนายร้อย จปร. นายร้อยอบรม ขณะที่กลไกข้าราชการคือปีศาจ แม้แต่รัฐมนตรีเมื่อเข้าไปบริหารก็เป็นทาสข้าราชการ เพราะมีระเบียบอยู่

นายโภคิน ยอมรับว่า การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา ถ้าจะแก้ใหม่ เว้นหมวด 1 หมวด 2 และให้มีการนำร่างที่ถูกตีตกขึ้นมาทำใหม่ สิ่งที่ต้องตอบโจทย์คือ วางกติกาอย่างไรให้ยึดอำนาจไม่ได้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร สิ่งที่ไม่เคยแตะเลยคืออำนาจเป็นของประชาชน ต่อไปนี้การยึดอำนาจให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และให้ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากยึดอำนาจจะติดคุกถูกดำเนินคดี และศาลต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่ามีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สมัยเป็นอาจารย์ ขณะนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ผ่านมา 30 ปี ยังเป็นแบบเดิม ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ 60 ไม่ใช่กติกาที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ซึ่ง นายเจษฎ์ ที่เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตามที่นักวิชาการออกแบบ

นายอภิสิทธิ์ยังมองเรื่องการทำประชามติที่มี 2 ครั้ง ว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขทุกประการ แต่ไม่ทราบว่าตอนนี้ได้ข้อยุติแล้วหรือไม่ เมื่อเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขไม่สามารถเดินต่อได้ และคงต้องรื้อฟื้นกระบวนการทำประชามติ เลวร้ายสุดคือต้องรอ ส.ว.ชุดใหม่ และหวังทุกพรรคเห็นตรงกัน หากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จากหมวด 3 เป็นต้นไป

หัวใจของการเขียนกติกาใหม่ คือ การมีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างสั้น เพราะเมื่อใส่เนื้อหาเยอะ ทำให้ประเด็นหลักถูกบดบัง เหมือนหาเสียงให้รัฐธรรมนูญ และควรกำหนดบทบาทภาครัฐกับความสัมพันธ์กับประชาชน ดังนั้น สิทธิเสรีภาพสำคัญ อาจครอบคลุมถึงสวัสดิการ ต้องไม่ให้ หรือทำอะไรกับประชาขน มีกลไกที่อิสระและศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ ส่วนเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐและแผนยุทธศาสตร์ ไม่ควรมี ควรให้น้ำหนักที่การจัดรูปแบบความสัมพันธ์รัฐกับประชาชนอย่างไร

นอกจากนี้จะต้องไม่วนเวียนในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างประเทศไม่อิงกับรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองรองรับ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ตั้งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้ให้เห็นว่าอดีตนายกพูดเท็จต่อสภาและถูกตัดสินลงโทษ ดังนั้นหากจะแก้หรือทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องยึดแบบเดียวกัน

นายอภิสิทธ์ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ตั้งโจทย์ประเทศ แต่ตั้งโจทย์ให้ผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่การทำประชามติไม่เสรี ผู้ร่างกระโดดมาเล่นเอง จากการแต่งตั้ง สว. ตนไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกองค์กรอิสระ และ สว. แต่มองเรื่องการสร้างสำนึก และมองว่าการที่จะให้ศาลวินิจฉัยไปถึงจริยธรรม กลับยิ่งเป็นปัญหา หากยังทำไม่ได้ ต้องเลือกว่าจะให้ศาลมีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ จะปรับอย่างไร ถ้า ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบ ถ่วงดุล แต่ไม่ได้มาจากประชาชน ก็มองว่าให้อำนาจมากเกินไป สิ่งที่ยากในเรื่องนี้คือวิธีการ ตอนนี้ทุกคนกังวลเรื่องตั้งรัฐบาล แต่ตนคาดหวังว่าสภาจะให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ ด้วย

นายเจษฎ์ ระบุว่าถ้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับฟังให้รอบด้าน ถ้ามีการแต่งตั้ง สสร.ต้องอย่าให้ยกร่าง แต่ให้รับฟังความเห็นว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน ให้เอาคนที่สามารถยกร่างได้มานั่งเขียน เหมือนจ้างคนขับรถมาขับให้

นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจ จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญ 60 เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้รัฐประหาร 57 เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ การให้อำนาจ สว. ที่มาองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเห็นด้วยกับ นายอภิสิทธ์ ว่าควรเขียนให้สั้น ระบบเลือกตั้งไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ กติกาให้อยู่ในกฎหมายประกอบ ถ้าอยู่ในรัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ด่านสำคัญในการแก้ คือวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็น 4 ปีที่ผ่านมาถูกตีตกหมด

นายปิยบุตร ยังเชื่อว่าคนที่เลือกก้าวไกล เพื่อไทย พรรคอันดับ 1 และ 2 ไม่ได้คิดเพียงอยากให้ใครเป็นรัฐบาล แต่มองถึงการทำรัฐธรรมนูญใหม่ หวังหาก 2 พรรคตั้งรัฐบาลได้ วาระสำคัญที่จะทำแรก ๆ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องสร้างกติกาพื้นฐานว่ารัฐบาลมาจากประชาชน และมีการตรวจสอบที่มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ นายปิยบุตร มองว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิสภา อาจเป็นสภาเดียวแทน ซึ่งต้องดูต่อไปว่าระบบสภาเดียวของไทยจะไปไกลถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ และหากมีสภาเดียวจะทำอย่างไรให้เสียงข้างมากไม่ครอบงำเสียงข้างน้อยจนไม่มีการตรวจสอบ ส่วนองค์กรอิสระที่มีปัญหาพัวพันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เมื่อกำหนดให้องค์กรอิสระมีอำนาจตรวจสอบ จึงควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น ในต่างประเทศที่มาจาก ส.ส.และ ส.ว. อย่างละครึ่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ซึ่งพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการที่ให้ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการเพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจสอบ

Related Posts

Send this to a friend