‘ภูมิธรรม’ ควง หน่วยงานมั่นคง ลงพื้นที่ จชต. ก่อนเคาะแผนยุทธศาสตร์ชายแดนใต้
วันนี้ (24 พ.ค. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะผู้บริหารระดับสูงด้านความมั่นคงลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม ก่อนสรุปแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาในพื้นที่ คณะที่ร่วมเดินทางประกอบด้วย พลเอก ธราพงษ์ มะละคำ รองปลัดกระทรวงกลาโหม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรับฟังข้อมูลโดยตรงจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ แม้ว่าที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาจะรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ตนเองต้องการรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน เนื่องจากปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน จากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีมุมมองที่หลากหลาย จึงต้องการประมวลภาพทั้งหมดให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในระยะแรก และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าได้คิดไว้หมดแล้วว่าจะมีการใช้กลไกอะไรบ้าง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะออกมาเป็นรูปแบบใด แต่เนื่องจากยังย้อนแย้งกับเรื่องความมั่นคง และความปลอดภัยของประชาชน เพราะยังไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีจุดร่วมกันได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจลดความรุนแรงของปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้เหตุการณ์ยังคงวนเวียนอยู่เช่นนี้ จึงคิดว่าหากได้พูดคุยกันคงจะได้เห็นทางออกหลายๆอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระงับเหตุความรุนแรงด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว แต่ยังไม่ใช่ความเห็นทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน และหากทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว จะต้องนำยุทธศาสตร์มาพูดคุยกันอีกครั้งแม้จะมีการประกาศไปแล้วก็ตาม ซึ่งมายเซ็ทที่สำคัญคือต้องมองยุทธศาสตร์และปัญหา รวมไปถึงทางออกให้สอดรับกัน และทำตามหน้าที่ของแต่ละคน
ส่วนประเด็นการเจรจาสันติสุขชายแดนใต้นั้น นายภูมิธรรมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ปฏิเสธกลไกใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะต้องพิจารณาว่าแนวทางที่ดำเนินการอยู่นั้นจำเป็นต้องปรับปรุงหรือไม่ หากบางกลไกไม่มีบทบาทหรือความสำคัญแล้วก็อาจต้องยุติไป แต่ยังคงมีความยืดหยุ่นและยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยกเลิกกลไกใด สำหรับการเดินหน้าพูดคุยสันติสุขนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้แผนยุทธศาสตร์ชายแดนใต้แล้วเสร็จก่อน เพราะหลายอย่างสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายภูมิธรรมมีกำหนดจะพบปะกับฝ่ายปฏิบัติงานโดยตรง 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่ และกลุ่มผู้ประกอบการ โดยจะไม่เชิญผู้บริหารระดับสูงในพื้นที่ เช่น แม่ทัพภาค รองแม่ทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เข้าร่วมในการหารือกลุ่มย่อยเหล่านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานสามารถสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระ นอกจากนี้ จะมีการเปิดโอกาสพูดคุยกับภาคประชาสังคม หรือกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่ด้วย