POLITICS

Con for All ชี้ คำถามประชามติแก้ไข รธน.ของรัฐบาลมีปัญหา ไม่สามารถโหวต ‘เห็นชอบ ได้

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ คำถามประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลมีปัญหา ไม่สามารถโหวต ‘เห็นชอบ ได้ – ประชาชนต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และต้องร่างโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%

วันนี้ (24 เม.ย. 67) เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All) แถลงจุดยืนกรณีคำถามในการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หลังจากเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ครม.มีมติให้ทำประชามติเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวางแผนจะทำประชามติ 3 ครั้ง โดยจะใช้คำถามในการทำประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติของรัฐบาลที่ออกมา ไม่ใช่คำถามที่มาจากการลงชื่อของประชาชนจำนวนกว่า 2 แสนคน ที่เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเคยได้เสนอไว้ให้กับรัฐบาล

ทางเครือข่ายจึงได้ออกมาแสดงจุดยืนเดิมว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนทั้งฉบับ โดยทำการเขียนใหม่ตั้งแต่ต้นทุกหมวดทุกมาตรา และ ต้องการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็น ถึงแนวทางการทำประชามติฯ ของรัฐบาลว่ารัฐบาลกำลัง ‘พายเรืออยู่ในอ่าง’ หลังจากเสียเวลาไปกว่า 200 วัน ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และก็กลับมาเริ่มต้นที่จุดเดิม ทั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน ต่างก็เคยเสนอแนวคำถามไว้แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ประชามติเข้าชื่อประชาชนกว่า 2 แสนคน เพื่อเสนอคำถาม แต่รัฐบาลก็ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา และที่สำคัญการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ สสร. ที่พรรคเพื่อไทยเคยแสดงจุดยืนว่าให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่แนวทางที่รัฐบาลนำเสนอในวันนี้กลับมองข้ามประเด็นดังกล่าว โดยไม่มีคำอธิบาย

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยังอธิบายถึงปัญหาของคำถามในการทำประชามติของรัฐบาล โดยระบุว่าในคำถามมี 2 ประเด็น ที่ทับซ้อนกันในคำถามเดียว คือ เห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ซ้อนอยู่กับประเด็น ว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการคงเนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้ประชาชนเผชิญ กับ สภาวะไร้ทางเลือก ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อประชาชนไปลงประชามติแล้ว ผลที่ออกมาจะไม่สะท้อนถึงความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ ได้เลย คำถามประชามตินี้จะไม่ทำให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างแท้จริง เพราะเมื่อไม่แก้หมวด 1 และ หมวด 2 ทำให้ยังมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อยู่ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่านี่คือการจำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่ควรจะมีส่วนในการตัดสินใจว่าเนื้อหาในเรื่องใดควรจะเปลี่ยนแปลง และได้รับการพิจารณา ฉะนั้นคำถามในการทำประชามติในลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

พร้อมยังอธิบายถึงการนำคำถามประชามติที่มีการตั้งเงื่อนไขในหมวดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่า จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจในระหว่างการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดจาก “คำถามที่จะใช้การทำประชามติของรัฐบาล” เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถลงประชามติ “เห็นชอบ” หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ เนื่องจาก คำถามถูกกำหนดขึ้นมาด้วยลักษณะที่แตกต่างจากจุดยืนที่เรา และประชาชนสนับสนุน

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยังคาดการณ์ว่าอาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่จะลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้งขึ้น และให้ข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะมีคนกาช่อง ไม่เห็นชอบ หรือ Vote NO มากน้อยเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือเสียงที่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เป็นเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง

และจากนี้เครือข่ายฯ มองว่าประชาชนจะตั้งคำถามต่อ หมวด 1 และหมวด 2 ว่าคืออะไร มีปัญหาอย่างไรทำไมรัฐบาลถึงต้องมีการห้าม และยกเว้นไว้ ข้อถกเถียงของหมวด 1 หมวด 2 ที่จะเกิดขึ้นในสังคมจะเป็นผลลัพธ์มาจากการที่รัฐบาลตั้งคำถามในการทำประชามติโดยใส่ ล็อคเงื่อนไขต่างๆ เอาไว้ หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงักลง นั่นหมายความว่ารัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีก

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่า ยังต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และไม่ต้องการอยู่กับ รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับของ คสช. อีกต่อไป โดยกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีความชอบธรรม เปิดกว้าง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ หากมีเงื่อนไขปิดกั้นตั้งแต่ต้นก็สุ่มเสี่ยงที่กระบวนการข้างหน้าจะมีเงื่อนไขตลอดเส้นทาง และทำให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้นๆ

ไม่ว่าผลการทำประชามติครั้งแรกจะเป็นอย่างไร หรือการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่ เส้นทางของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ทั้งฉบับ” โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งจะยังเดินหน้าได้โดยองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ วุฒิสภา (สว.) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งรวมถึง สว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 67 จาก 200 คน ดังนั้น ในการเลือก สว. ที่กำลังจะเริ่มขึ้นหากประชาชนร่วมกันลงสมัคร สว. เพื่อส่งผู้สมัครที่เชื่อในหลักการประชาธิปไตยเข้าสู่สภา เขียนใหม่ทั้งฉบับ ที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะได้รับแรงส่งสนับสนุนจาก สว. ชุดใหม่เหล่านั้นให้เดินหน้าไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend