นายกฯ ยินดี ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยโตต่อเนื่อง พร้อมดันเป็นศูนย์กลางทางการค้า บริการ และการลงทุนในภูมิภาค
วันนี้ (24 มี.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ธุรกิจด้านการบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (โลจิสติกส์) ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากประกาศของกระทรวงพาณิชย์เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ระบุว่า มีธุรกิจโลจิสติกส์จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 444 ราย เติบโตเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึงร้อยละ 39.6 โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุดคือ การขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย รองลงมาคือ การขนส่งสินค้าทางถนน 68 ราย และกิจกรรมตัวแทนรับจัดส่งสินค้า 33 ราย
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2563 ธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการผลิตและกระจายสินค้าและวัตถุดิบ มีรายได้รวม 87,240.63 ล้านบาท และในปี 2564 มีนิติบุคคลธุรกิจโลจิสติกส์ จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 207 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.3 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 908.17 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้ารวม 1.51 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 27.7 โดยสามารถแยกเป็น
1) การขนส่งทางเรือ สัดส่วนร้อยละ 66.5 เติบโตร้อยละ 30.4 ซึ่งสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม ส่วนประกอบยานยนต์ และยานยนต์ เป็นต้น
2) การขนส่งทางอากาศ สัดส่วนร้อยละ 23 เติบโตร้อยละ 28.8 มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ และส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น
3) การขนส่งทางถนน สัดส่วนร้อยละ 10.4 เติบโตร้อยละ 10.8 มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ เพชร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4) การขนส่งทางราง สัดส่วนร้อยละ 0.1 เติบโตร้อย 9.4 มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และไม้อัด เป็นต้น
“ความตกลง RCEP ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีส่วนสำคัญในการผลักดัน และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากขึ้น ประเทศสมาชิก RCEP เปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมในธุรกิจโลจิสติกส์ เช่นเดียวกัน ไทยได้เปิดตลาดให้สมาชิก RCEP เข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการขนส่งเพิ่มซึ่งช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นห่วงโซ่ Global Value Chains เมื่อประกอบกับการขยายตัวของ E-Commerce จึงส่งเสริมการขยายการค้าและการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการและแรงงานให้มีองค์ความรู้ ทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค” นายธนกรฯ กล่าว