POLITICS

‘พิธา’ หารือสภาอุตสาหกรรมฯ รับฟังข้อเสนอต่อนโยบายก้าวไกล เดินหน้าสร้างความมั่นใจนักลงทุน

‘พิธา’ เข้าหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับฟังข้อเสนอต่อนโยบายก้าวไกล เตรียมเดินหน้าสร้างความมั่นใจนักลงทุน

วันนี้ (23 พ.ค. 66) เวลาประมาณ 10:00 น. ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์รับจ้างฝ่าการจราจรที่ติดขัด มาพบกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจ ต่อนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของพรรคก้าวไกล

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ไม่มากพอ 376 เสียง จะทำอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าท่าทียังไม่มีปัญหา เพราะเท่าที่คณะเจรจาได้ดำเนินงานและรายงานให้ตนทราบ ทั้งที่ท่านวุฒิสภาได้แจ้งผ่านสาธารณะว่าเป็นเรื่องของระบบมากกว่าเรื่องของบุคคล อยากประคับประคองทางออกให้ประเทศ ไม่อยากให้ประเทศถึงทางตันก็ส่วนนึง และยังมีผู้ที่พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับทางคณะกรรมการอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่พร้อมแจ้งกับสาธารณะ และส่วนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ รอพบอยู่เพื่อพูดคุยอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

พิธา ยังกล่าวต่อว่า การที่ตนเดินทางมาที่สภาอุตสาหกรรมฯวันนี้ วุฒิสภาหลายท่านที่เคยทำงานกับตนมาก่อน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีความผูกพันธ์กับสภาอุตสาหกรรมฯ เมื่อหลายท่านทราบว่าตนจะมาที่สภาอุตสาหกรรมฯ ในวันนี้ ได้ยกหูโทรศัพท์หาตนระหว่างงานแถลงข่าว MOU เมื่อวานนี้ ประมาณ 3-4 ท่าน ทั้งท่านที่เคยอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง คนที่เคยเห็นตนตั้งแต่อายุประมาณ 20-30 ปี เมื่อทราบว่าตนจะมาที่นี่ ก็เป็นวุฒิสภาที่ได้โทรมา ดังนั้นตนคิดว่าความแน่นอนตนเข้าใจว่าต้องใช้เวลา ในการค่อยๆอธิบาย แต่ความแน่นอนมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำให้ประชาชน รวมถึงนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ ได้เริ่มสบายใจ

พิธา เชื่อว่า นักลงทุนจะเห็นถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และเสถียรภาพของเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่วันนี้คณะทำงานในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหรือ Transition Team ที่มารับฟังข้อเสนอ 6 ข้อที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอไว้ รวมถึงเป็นการกลับมาบ้านเก่าของตนด้วย เพราะได้มาครั้งแรกตั้งแต่ตั้งอยู่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ที่ ศ.ไมเคิล พอตเตอร์ มาเยี่ยมประเทศไทยและพูดเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่วันนี้จะมาแลกเปลี่ยนกันว่านโยบายอุตสาหกรรมของเรา ที่เน้นการบรรเทาทุกข์ เน้นความเท่าเทียม และเกี่ยวกับความทันสมัย ต้อง Fair , พื้นฐานของประเทศต้อง Firm และ Fast Growth เป็นการ เจริญเติบโตที่ลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยตัวเอง

“…ดังนั้นพี่น้องนักธุรกิจ ลงทุนจะได้เห็นภาพว่า เมื่อเศรษฐกิจของเราเป็นจากล่างขึ้นบน และแข็งแรงทั้งตัวไม่ใช่แค่หัว ก็จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาอยู่ในขณะนี้…” พิธา กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทว่ายังคงจะเดินหน้าตามที่วางแผนไว้เหมือนเดิมหรือไม่ พิธา ระบุว่า ตนคิดว่าเรื่องของเศรษฐกิจบางเรื่องต้องรวดเร็ว ส่วนบางเรื่องก็ต้องรอบคอบ อย่างในวันนี้เป็นสัปดาห์แรกในการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน (Transition Team) มาพบปะกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายและรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน รวมถึงการไปรับฟังสภาแรงงาน หรือสภา SMEs ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ซึ่งตนจะเดินหน้ารับฟังให้รอบด้านภายในสัปดาห์นี้ และนำข้อมูลไปพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ต้องไปหารือในเรื่องกรอบจำนวนเงินที่เหมาะสม พร้อมย้ำว่าพี่น้องแรงงานไม่ได้ขึ้นค่าแรงมานาน ซึ่งขณะนี้มีคณะทำงานในการศึกษา แม้ว่าการขึ้นค่าแรงในลักษณะนี้อาจจะไม่เหมาะสมในแง่ที่จะกระชากไปนิดนึง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน กำลังศึกษารูปแบบที่สามารถบรรเทาการขึ้นค่าแรงในสมัยปี 2556 รวมถึงการคิดถึงการดูแลแรงงาน กลุ่ม SMEs และเจ้าของธุรกิจ เพื่อดูแลในเรื่องของความเท่าเทียม และเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคม เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน พิธา กล่าวว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการในกรอบของกฎหมาย ว่า กกต. จะรับรอง ส.ส.เมื่อไร หากเกิดการรับรอง ส.ส. ได้เร็ว และกระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปในลักษณะนี้ ก็น่าจะทำเวลาได้เร็วขึ้น

Related Posts

Send this to a friend