‘แพทองธาร’ ร่วมประชุมระดับผู้นำพรรค ‘รัสเซีย-อาเซียน’
‘แพทองธาร’ ร่วมประชุมระดับผู้นำพรรค ‘รัสเซีย-อาเซียน’ หวังส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาคร่วมกัน
วันนี้ (23 ม.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมการประชุมระดับหัวหน้าพรรคการเมืองระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศอาเซียน ในหัวข้อ “การจัดระเบียบโลกใหม่อย่างเที่ยงธรรม (A New Just World Order)” ซึ่งมี นายดมีตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย และหัวหน้าพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย เป็นประธานการจัดประชุม
การประชุมดังกล่าว มีผู้นำพรรคการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา นายเลอ ฮอย ทรัง ประธานด้านต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประชาสัมพันธ์ศูนย์กลางกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นายเดฟ ลักโซโน รองหัวหน้าพรรคโกลคา อินโดนีเชีย นายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายอับดุล ราห์มาน ดาลาน เลขาธิการพรรคอัมโน มาเลเซีย และ นายอู ขิ่นยี ประธานพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ระเบียบโลกมีวิวัฒนาการมาจากมหาอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ประเทศ โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับผลประโยชน์ของประเทศเล็ก ๆ มากนัก การประชุมในวันนี้เป็นการหารือถึงการเพิ่มบทบาทของกลุ่มประเทศอาเซียนในเวทีโลกในการสะท้อนปัญหาและหาทางออกต่อปัญหาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาคร่วมกัน
ในการประชุมวันนี้ ผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนเห็นตรงกันว่า ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ และความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาวะโรคระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านพลังงาน และความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ต้องได้รับการใส่ใจและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งผู้นำพรรคการเมืองล้วนเห็นพ้องกันว่า ระเบียบโลกต้องปรับเปลี่ยนอย่างเที่ยงธรรมเพื่อให้คำนึงถึงผลระโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาด้วย
นางสาวแพทองธาร ยังแลกเปลี่ยนถึงแนวทางป้องกันภาวะวิกฤตทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ผ่านมาตรการและกลไกในการช่วยเหลือและสนับสนุนตนเองระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น จัดตั้งกองทุนสำรองระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อป้องกันสงครามสกุลเงินที่อาจเกิดขึ้น หรือการออกแบบมาตรการ เช่น ริเริ่มตลาดตราสารหนี้แห่งเอเชีย ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางที่จะเพิ่มช่องทางการระดมทุน รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือให้คำแนะนำต่าง ๆ
นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ในอดีตประเทศไทยร่วมกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันจัดตั้ง Asia Cooperation Dialogue (ACD) ในปี พ.ศ.2545 โดยมีประเทศสมาชิกจำนวน 35 ประเทศ ACD พัฒนาเป็นเวทีสำหรับการเจรจาเพื่อแสวงหาวิธีการในการกำหนดรูปแบบระเบียบโลกใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมีการแลกเปลี่ยนและพูดถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น องค์กร BRICS ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มประเทศ BRICS มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพที่จะเป็นองค์กรที่ร่วมกำหนดระเบียบโลกใหม่ให้เที่ยงธรรมยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงค์ที่จะเป็นสมาชิก BRICS ในอนาคตเพื่อร่วมสนับสนุนสันติภาพ ความมั่งคั่ง และกำหนดกรอบกติกาโลกใหม่ที่เที่ยงธรรม และครอบคลุมยิ่งขึ้น