POLITICS

นายกรัฐมนตรี ปลื้มเลขาธิการ UN ชื่นชมไทยให้ความสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน

ฝากไทยดูแลพูดคุยสถานการณ์ในเมียนมา ยืนยัน ไม่ย้ายสำนักงานในไทยและสนับสนุนคนไทยทำงานในตำแหน่งสำคัญของ UN

วันที่ 21 ก.ย.66 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการพบหารือทวิภาคีกับ นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ (UNSG) ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะท่านเลขาธิการสหประชาชาติ มีงานยุ่งมาก ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่สามารถนัดหมายกับเลขาธิการ UN ได้ สะท้อนว่า UN ให้ความสำคัญกับไทย ซึ่งการพูดคุยกันนาน 15 นาที ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันยาวนาน เนื่องจากเลขาธิการ UN เป็นคนโปรตุเกส ที่เป็นสถานทูตแรกๆที่ตั้งในไทย จึงมีความผูกพันกับไทย จึงมีความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และมีความกังวลสถานการณ์ในเมียนมา

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เลขาธิการสหประชาชาติ กำชับว่าไทยต้องดูแลสถานการณ์การณ์เมียนมา ต้องพูดคุยสนทนากัน และเห็นว่าการพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้สหประชาชาติมีสำนักงานใหญ่ ที่ตั้งในไทย ก็มีหลายเสียงเรื่องงบประมาณที่จะตัดจึงได้ขอไม่ให้มีการย้ายสำนักงานออกจากประเทศไทย

“ผมไปขอร้องท่าน ท่านบอกว่าไม่มีแนวคิดนี้เลย ทุกอย่างยังเหมือนเดิมยังมีองค์การสหประชาติครบหน่วยงานอยู่ตรงนี้.. ผมจึงขอร้องว่าคนไทยมีความสามารถนะ ขอโอกาสให้เราแสดงฝีมือบ้าง ท่านตอบรับถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี”

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่าเลขาธิการสหประชาชาติ ชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมสีเขียว หรือ Green finace ซึ่งมี 150 ประเทศเสนอเรื่องนี้ แต่มี 34 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับเลือกให้พูด ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ทำงานมา 10 กว่าวัน แต่ภายในเวลาสั้นขนาดนี้ไทยได้รับเลือกเข้ามาเสนอ จึงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ไทยอยู่ในแนวหน้าของเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีสถานการณ์ในเมียนมา เลขาธิการสหประชาติ ได้ฝากอะไรเพราะเป็นเพื่อนบ้านและมีผู้ลี้ภัยที่ไทยดูแลอยู่บริเวณชายแดนซึ่งเกิดสถานการณ์สู้รบอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เลขาธิการสหประชาชาติ เติบโตมาจากสายงานผู้ลี้ภัย เคยอยู่เมืองไทยและทำงานใกล้ชิดกับไทย ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนสูงและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ

“หน้าที่ของผมคือสานต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา และยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งความขัดแย้งในประเทศเขาเป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยวข้อง แต่เราสนับสนุนให้มีการพูดคุยเจรจาอย่างสันติสุข ถ้ามีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่ชายแดนและการเข้าออก เราช่วยอำนวยความสะดวกให้ตามสิทธิที่ทุกคนจะได้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ และยืนยันว่าสำหรับสถานการณ์ชายแดนได้หารือกับรองนายกรัฐมนรี และ รมว.ต่างประเทศ ทางเลขาธิการสหประชาชาติก็ให้โจทย์มาแล้ว ตนก็จะทำให้แน่นแฟ่นยิ่งขึ้น

สำหรับวันนี้ 21 กันยายน เป็นวันสันติภาพสากล นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่พูดกันเป็นเชิงสัญลักษณ์มากเกินไป อยากให้ปฏิบัติมากขึ้น ไม่ใช่แค่วันไหนมาทำกัน แล้วจับอาวุธมาห้ำหั่นกัน จริงๆ การประชุม UNGA ครั้งนี้สหประชาชาติใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ซึ่งทราบดีว่าในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างประเทศ หลายประเทศที่จับคู่ทะเลาะกันเป็นเรื่องใหญ่ที่หาข้อตกลงกันไม่ได้

“ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ มีความสามารถสูงได้หาจุดร่วมให้ทุกประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และมีแนวร่วมอย่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นอากาศสะอาด เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด ท่านรู้ว่าเรื่องเหล่านี้ทุกประเทศจะต้องหล่อหลอม วันสันติภาพโลกกับเรื่องนี้ที่จริงแล้วไม่ได้ห่างไกลกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Related Posts

Send this to a friend