POLITICS

กมธ.ต่างประเทศ สภาฯ เปิดข้อเสนอ 5 ข้อ แนะนายกฯ-รมว.กต. จับมือจีน-อินเดีย ร่วมแก้วิกฤตเมียนมา

กมธ.ต่างประเทศ สภาฯ เปิดข้อเสนอ 5 ข้อ แนะนายกฯ-รมว.กต. จับมือจีน-อินเดีย ร่วมแก้วิกฤตเมียนมา ตั้งกลไกใน สมช. เฝ้าติดตามสถานการณ์ และให้ผู้ลี้ภัยขอสิทธิทำงานจาก ก.แรงงาน ได้โดยตรง

วันนี้ (21 ธ.ค. 66) เวลา 08:30 น. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมตามระเบียบวาระเพื่อพิจารณาศึกษาสถานการณ์ในสหภาพแห่งสาธารณรัฐเมียนมา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพภาคที่ 3 สภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนองค์กรซึ่งไม่ใช่รัฐ (Non Governmental Organization: NGO) คือ เดอะ บอร์เดอร์ คอนซอร์เทียม (The Border Consortium) เข้าหารือชี้แจง ณ อาคารรัฐสภา

เวลา 13:40 น. นายนพดล ปัทมะ ประธานกรรมาธิการฯ แถลงผลการประชุม สรุปข้อเสนอถึงรัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้

1.เรียกร้องให้รัฐบาลไทย เพิ่มบทบาทและทำงานในประเด็นสถานการณ์เมียนมาให้เข้มแข็งขึ้น ร่วมกับอาเซียน เพื่อผลักดันการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ทั้งการเปิดการเจรจาภายในกลุ่มความขัดแย้งต่าง ๆ ปล่อยนักโทษทางการเมือง แก้ปัญหาโดยสันติเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเข้าร่วม รวมทั้งประสานกับจีนและอินเดียให้ร่วมด้วย เพราะถือว่ามีพรมแดนติดกับเมียนมา ถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด

“จีน อินเดีย ไทย เรียกว่าหัวหอก ในการแก้ไขปัญหาพม่า” ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าว

2.เรียกร้องให้รัฐบาลไทย เปิดช่องทางการสื่อสารกับทุกกลุ่ม รวมทั้งฝ่ายรัฐบาล SAC ฝ่าย NUG และกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศไทยจะต้องเปิดช่องทางกับทั้ง 3 กลุ่ม โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา

“เราไม่รู้ว่าในอนาคตสถานการณ์การเมืองจะพัฒนาเป็นอย่างไร เราไม่ถือหางหรือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เราต้องสื่อสารทุกกลุ่ม” ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าว

3.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีการยับยั้งชั่งใจ ลดการใช้ความรุนแรง และหันมาใช้การพูดคุยเจรจากันมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากเห็นการต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้น

4.เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกลไกดูแลและดำเนินการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยด่วน

5.สำหรับการดูแลผู้ลี้ภัยนั้น ตั้งแต่เกิดสงคราม พ.ศ. 2527 ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยมาจากเมียนมาเหลือประมาณ 78,000 คน ในค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ในหลายอำเภอ และยังมีผู้หนีภัยความไม่สงบหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา พ.ศ. 2564 ด้วย จึงเห็นควรให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ที่อยู่ในประเทศไทยมากว่า 40 ปี อยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรบูรณาการให้มีส่วนร่วมในประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์ เช่น การมีสิทธิในการทำงาน โดยสามารถออกจากค่ายผู้อพยพ และมาที่กระทรวงแรงงานได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันยังต้องกลับไปดำเนินเรื่อง ณ กรุงเนปิดอว์อยู่

“จะเป็นพม่า หรือเป็นคนไทย คนลาว คนกัมพูชา เราเป็นเลือดอาเซียนด้วยกัน เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ประเทศไทยจะต้องเติบโต ถ้าเพื่อนบ้านเติบโต เพื่อนบ้านมีความสุข ประเทศไทยก็มีความสุข เราเติบโตไปด้วยกัน เรามองในแง่มนุษยธรรม” ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวพร้อมเปิดเผยว่า จะนำข้อเสนอนี้ทำเป็นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป

Related Posts

Send this to a friend