ส.ว. ยื้อ ทำประชามติ แก้ รธน.ใหม่ ตั้งกมธ. ศึกษาก่อน
ส.ว. ยื้อ ทำประชามติ แก้ รธน.ใหม่ ตั้งกมธ. ศึกษาก่อน แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยให้แก้ไข
วันนี้ (21 พ.ย. 65) ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณาญัตติด่วน การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ตามที่สภามีมติในการออกเสียง ประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การอภิปราย ของ ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แต่ยังมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ที่เห็นควรเปิดโอกาสให้แก้ไขปัญหา และลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่มองว่าการแก้ไขอะไรควรคำนึงถึงความพอดีและไม่สร้างเงื่อนไขที่ส่งผลให้รัฐธรรมนูญในอนาคตอายุสั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนบางครั้งไม่ก่อให้เกิดเรื่องดี และประเทศไทยไม่ควรเริ่มต้นใหม่บ่อยครั้งเพราะจะบอบช้ำเกินความจำเป็น
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. มองว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่เพื่อลดความขัดแย้งของทุกฝ่าย ส่วนตัวเห็นสมควรให้แก้ไข แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน รวมทั้งอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างการหาเสียงของพรรคการเมือง ดังนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ทำประชามติถามประชาชนหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการตามมติของประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากนั้นให้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่
ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว แสดงความเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นประเด็นที่ ส.ว. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น ประเด็นที่จะถามประชาชน ขอบเขตการแก้ไข และเมื่อมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขแล้วจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป เพราะการแก้ไขต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อีกทั้งยังย้ำว่า วิธีการถามต้องไม่เป็นคำถามชี้นำ จะเป็นหนึ่งเหตุผลของ ส.ว.ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่
ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. เห็นว่า ถ้า ครม. ทำตามที่รัฐสภาเสนอ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า5-6 เดือน ไม่ทันรัฐบาลที่จะหมดวาระเดือนมีนาคม 2566 ดังนั้นหากสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบวันนี้ก็ไม่ทัน และหากคัดค้านหรือประวิงเวลาให้ล่าช้าก็จะเสียโอกาส และ ส.ว.ก็จะ กลายเป็นจำเลยทางสังคม จึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไขและควรเร่งให้เกิดการแก้ไข ขณะที่ยังเหลือเวลาอีกปีครึ่ง ที่ส.ว. จะหมดวาระ ในเดือน พ.ค. 2567 และไม่มีทางแก้ทันในสมัยส.ว. ชุดนี้ แต่ส.ว. ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่ต้องยอมรับว่าในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญปี 2560 น่าจะต้องถูกแก้ไขเพราะฟังจากเสียงของส.ส. ที่ตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน
เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่มองว่า ส.ว.ยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอจะใช้ประกอบการพิจารณา แม้จะเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่ม
เติมรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าประเด็นที่แก้ไขได้ทันทีควรดำเนินการก่อน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่ควรกำหนดกรอบการแก้ไขให้ชัดเจนในการแก้ไข ทั้งนี้จึงเสนอญัตติด้วยวาจา ขอให้มีการตั้งกรรมาธิการสามัญ เพื่อมาพิจารณารายละเอียดต่อไป
นายสมชาย และนายกิตติศักดิ์ มีความเห็นตรงกันในข้อเสนอตั้งกรรมาธิการสามัญวุฒิสภาขึ้นมาศึกษาญัตติดังกล่าวก่อน
ขณะที่นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ไม่เห็นด้วยเพราะมองเป็นแค่การยื้อ และจะเสียเวลาเปล่าๆ ทำให้ต้องขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อตัดสิน ปรากฎว่าที่ประชุมมีมติ 151 เสียง ต่อ 26 เสียง เห็นด้วยให้มีตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมาศึกษารายละเอียดก่อน จำนวน 26 คน โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 30 วันนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป