POLITICS

‘พ.ต.อ.ทวี’ เร่งขับเคลื่อนคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล ยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย”

วันนี้ (21 ก.ย.66) เวลา 09.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล โดยมีรองเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1-9 ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอธิบดีและหัวหน้าศาลทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมแกรนด์ บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ใขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์มากกว่าการลงโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการคุมประพฤติตามมาตรา 56 มาใช้แทนการลงโทษ หรือส่งตัวจำเลยเข้ารับการบำบัดรักษา ถือเป็นการจัดการปัญหายาสพติดโดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สามารถกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาทักษะให้เข้าสู่ภาคแรงงานต่อไป ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการตำเนินงานของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม และการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศอย่างยั่งยืน

นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิกร ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงาน ป.ป.ส. ผ่านบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดียาเสพติดในระบบศาล โดยปี 2566 มีศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชนและครอบครัว และศาลไม่สังกัดภาคทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการรวม 163 แห่ง และตั้งเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 189 แห่ง ทั่วประเทศในปี 2567

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จจากผู้บริหารศาล ผู้พิพากษา และบุคลากรที่รับผิดชอบงานในแต่ละศาลทั่วประเทศ รวมทั้งรับมอบนโยบายจากผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อนำไปพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้ต้องหาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องจากนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการยุติหรือแก้ไขปัญหา ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจปัญหาสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหา และพัฒนาตนเองด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ลดโอกาสที่ผู้กระทำผิดไม่ร้ายแรงแปรสภาพเป็นอาชญากร แก้ปัญหานักโทษล้นคุกโดยที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้

Related Posts

Send this to a friend