POLITICS

คณะนิติศาสตร์ มธ. จัดเสวนา ‘คดีทวงคืนผืนป่า กับกระบวนการยุติธรรมไทย’ นำคดี ‘แสงเดือน’ มาเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาล

วันนี้ (21 ก.ย. 65) ​ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน พร้อมระบุว่า ปัญหาป่าไม้ที่ดินในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน มีการประกาศเป็นเขตอุทยานหรือพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่ได้ดูว่าตรงนั้นมีชาวบ้านอยู่มาก่อนหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของคนที่มาบุกรุกอุทยาน แต่อุทยานต่างหากที่มาบุกรุกคน น่าดีใจที่ในช่วงมีมติครม.ปี 2541 มีแนวโน้มที่คล้ายจะดีขึ้น ในทางปฏิบัติคล้ายจะอนุญาตส่งเสริมให้ปลูกยางพารา แต่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ ก็ไปตัดยางพาราทิ้ง แนวทางที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้เป็นแนวทางปฎิบัติที่เหมาะสม เมื่อพิสูจน์ทราบแล้วว่าไม่มีเจตนาที่จะบุกรุก แต่จะมีสิทธิ์ในการทำกินในพื้นที่หรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ทราบกันต่อไป แต่ต้องไม่มีการติดคุก อย่าเอาเขาไปขังคุกถ้าเขาไม่มีเจตนา

แสงเดือน ตินยอด กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาทุกวัน ไม่มีการบอกกล่าวชาวบ้าน ช่วงรัฐบาลทักษิณ ให้ทุนในการปลูกยาง แต่วันหนึ่งรัฐเองก็มาให้เราทำลายพื้นที่ทำกินของเรา รัฐหนึ่งทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ แต่อีกรัฐหนึ่งกลับเหยียบย่ำเราให้จมดิน พอเราสู้ก็จะเอาคดีมายัดเรา ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้นำเสวนาในครั้งนี้ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นปัญหาเรื่องโครงสร้าง ซึ่งโครงสร้างในลักษณะเช่นนี้ถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นเมื่อมีการทำรัฐประหาร การรัฐประหารแต่ละครั้งก็ออกกดหมายเป็นคำสั่งของคสช.บ้าง โดยที่ไม่ได้รับฟังหรือมีส่วนร่วมในการตรากฎหมายโดยพี่น้องประชาชนเลย แต่ตอบสนองนโยบายที่นายทุนเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์ และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า คดีแสงเดือนเป็นคดีที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของนโยบายบุกรุกผืนป่า กรณีการตัดฟันต้นยางมีอยู่ทั่วประเทศ ต้นยางกลายเป็นสิ่งหวงห้ามในช่วงนั้น ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่เขตป่าเป็นต้นไม้ที่แปลกแยกกับป่า จึงมีคำสั่งให้ตัดต้นยางทั้งหมดที่อยู่ในเขตป่าสงวน ไม่ทราบว่าใครเป็นคนสั่งแต่เป็นคำสั่งภายใต้นโยบาย 64/57 มุ่งไปที่ต้นยางในขณะนั้นราคายางตกต่ำ ซึ่งน่าจะเกี่ยวโยงกัน ในเมื่อมีนโยบายที่จะรักษาป่าแต่ไปตัดต้นไม้ ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านต้นไม้ ทั้งๆ ที่ก็เป็นต้นไม้ที่รัฐบาลเองก็เคยส่งเสริมให้ปลูก พี่น้องที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ คสช.ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นเกี่ยวข้องกับการปลูกยางพารา ในส่วนกรณีของคดีความ หลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว เราได้นำคำพิพากษามาเจรจากับรัฐบาลอีกหนึ่งรอบเพื่อขอให้รัฐบาลเจรจากับอัยการกรมป่าไม้ เพื่อไม่ให้อุทธรณ์คดีนี้เพื่อให้คดีสิ้นสุดที่ศาลชั้นต้น เพราะข้อเท็จจริงทุกอย่างชัดเจน และถูกพิสูจน์แล้วว่าแสงเดือนไม่ได้มีเจตนาที่จะบุกรุกป่า

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ตั้งคำถามว่ามีการรัฐประหารในวันที่ 17 พ.ค. 57 มีคำสั่งคสช. 64 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ห่างกันไม่ถึง 1 เดือน หลังจากเกิดรัฐประหารคำถามคือทำไมเรื่องป่าไม้กลายเป็นเรื่องที่คสช. ให้ความสำคัญมากขนาดนี้ ซึ่งสามารถมองได้หลายแบบแรกอาจจะเห็นความจำเป็น แต่มองอีกแบบหนึ่ง ที่มองผ่านประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งที่ตอบโต้กันไปมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2527-2529 ที่ประชาชนกล่มเล็กกลุ่มน้อยลุกขึ้นคัดค้านการสัมปทานไม้จนมีการยุติในปี 2531 นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระบบอำนาจรัฐที่ถือครองประโยชน์เหนือป่าไม้ ซึ่งการตอบโต้ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนคัดค้านจนยุติการสัมปทานไม้ คือการเร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมา สิ่งที่ประชาชนสู้คือสู้ด้วยการเสนอเรื่องป่าชุมชนในทุกๆพื้นที่ และการตอบโต้ครั้งที่สองคือการเร่งขยายเขตอนุรักษ์ทุกรูปแบบ จึงนำมาสู่การประกาศใช้คำสั่งคสช.64 / 2557 นี่คือปฐมบทที่อยากจะเสนอว่าเรากำลังอยู่ในสายธารการขัดแย้งเหล่านี้ และเป็นความขัดแย้งที่ต้องต่อสู้กันไปอีกอย่างยาวนาน

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตลอด 3-4 ที่เป็น กมธ.ที่ดินฯ ได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนหลายพันเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลพวงนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่เป็นปัญหากันอยู่ในตอนนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องชาวบ้านที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ ในเรื่องกมธ.ที่ดินฯ ได้ตั้งโจทย์เอาไว้ว่า กมธ.ของสภาจะนั่งแก้ปัญหาชาวบ้านทีละเรื่องแล้วก็แก้ไม่ได้ หลายเรื่องถูกฟ้องแล้วเจ้าหน้าที่สภาฯจะแทนความเห็นว่าไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อีกกี่ครั้ง เราจึงจะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ในขณะที่ฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาร่วมประชุมกับฝ่ายของกมธ.เลย ในกรณีคำสั่งของ คสช.ในปี 2557 ออกมาทั้งหมด 178 คำสั่ง มี 2 คำสั่งที่กำหนดวิธีปฏิบัติชัด คือคำสั่งที่ 64 และ 66 แต่เรื่องทวงคืนผืนป่าเป็นประเด็นที่กำหนดแนวปฏิบัติไว้ชัด เดิมที่เรื่องป่าเป็นเรื่องของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน แต่ในคำสั่ง 64 ไปเพิ่มฝ่ายความมั่นคงคือทหาร กรมน.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นลงไปด้วยในเรื่องการทวงผืนป่า ข้อสงสัยมีอยู่ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายทวงคืนผืนป่านี้

Related Posts

Send this to a friend