ส.ส.พปชร. ชี้ “นิรโทษกรรมเครือญาติ” โกงกินแบบครอบครัว ยิ่งกว่าปฏิวัติ
วันนี้ (21 ก.ค. 65) ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 2 (อ.ปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่) พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่มีการโจมตีถึงความไม่เหมาะสมในพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนากยรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีการชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พล.อ.ประวิตร เรื่องการปฏิวัติ ว่า ต้องยอมรับว่าการปฏิวัตินั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริง
“แต่หากการปฏิวัตินั้นมีเหตุผลเพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในยุคที่มีการโกงกินทุจริตคอรัปชั่นในบ้านเมืองเฟื่องฟู ก็จำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม รวยกระจุกจนกระจาย ส่งผลให้พี่น้องประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้” ดร.สัณหพจน์ กล่าว
ดร.สัณหพจน์ กล่าวต่อไปว่า หากย้อนกลับไปในปี 2557 เป็นยุคที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยเริ่มสั่นคลอน ประชาชนไม่พอใจในรัฐบาลซึ่งเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอรัปชั่นในการบริหารประเทศเพื่อเอื้อต่อพวกพ้องของตนเอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงเพื่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งพ้นผิด และการกินรวบอำนาจทางการเมืองของเครือญาติเพียงครอบครัวเดียว ส่งผลให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อเนื่องของประเทศในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับการที่บุคคลออกมากล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ภาคภูมิใจต่อการปฏิวัตินั้น ดร.สัณหพจน์ กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แอบอ้าง “ประชาธิปไตย” เพื่อการทุจริตคอรัปชั่นเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของตนเอง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ที่เลวร้ายกว่า “การปฏิวัติ”
“ผมอยากให้ย้อนมองกลับไปถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่รัฐบาลบริหารประเทศกินรวบอำนาจการเมืองเป็นของตระกูลเดียว โดยเตรียมออกกฏหมายนิรโทษกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นรอยด่างพร้อยของระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงฝังอยู่ในใจของคนภาคใต้ หรือคดีจำนำข้าว ที่บ่งบอกถึงการทุจริตคอรัปชั่น ส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนทั่วประเทศ ต้องยอมรับว่าการปฏิวัตินั้น เป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่เพราะบ้านเมืองกำลังประสบปัญหา ดังนั้นการปฏิวัติจึงเหมือนการรีเซ็ตระบบประชาธิปไตยใหม่” ดร.สัณหพจน์ กล่าวในตอนท้าย