POLITICS

สภาฯ ถก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.

สภาฯ ถก พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ชี้คณะรัฐประหารเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. ลดบทบาทตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ‘ชูศักดิ์’ มองคำสั่ง คสช.คือการรวมอำนาจ ฝาก สส.ตระหนักหน้าที่ อย่ามองรัฐประหารเป็นสิ่งดีงาม

วันนี้ (21 ก.พ. 67) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พิจารณาวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.ศ. …. ซึ่งนายยูนัยดี วาบา กับคณะ เป็นผู้เสนอ และที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ และฉบับที่นายรอมฎอน ปันจอร์ กับคณะเป็นผู้เสนอ

นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เดิมสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่คำสั่ง คสช. ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว

นายรอมฎอน มอบหมายให้ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปราย โดยตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่ง คสช. ได้เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน.เพื่อขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน ซึ่งมองว่ากำลังเดินไปผิดทาง จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว เพื่อยุติบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ฟื้นฟูสภาที่ปรึกษาฯ และจำกัดบทบาทของ กอ.รมน.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพี่อไทย อภิปรายว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่า ควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม กล่าวได้ว่าทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอมา มีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์

ระบบกฎหมายของไทยขณะนี้ หากยึดอำนาจการปกครองประเทศ และการออกคำสั่งประกาศจะใช้เวลาเท่าใด เมื่อยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด หากเราจะยกเลิกต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ผ่านวาระต่าง ๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี เรื่องนี้สภาผู้แทนราษฎรควรต้องตระหนักว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยทั้งสภาฯ และศาลต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใด ๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหารว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส. ว่าต้องตระหนักถึงหน้าที่ด้วย

Related Posts

Send this to a friend