POLITICS

‘ชัยวุฒิ’ หารือร่วม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของปชช.

รมว.ดีอีเอส ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ กมธ.พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน หนุนขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดช่องทางรับฟังเสียงและร้องเรียนปัญหาจากประชาชนโดยตรง ติดตามสถานการณ์ดำเนินงานได้ เน้นทำงานกระชับรวดเร็ว มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (21 ก.พ. 65) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เดินทางมาพบปะเพื่อประชุมรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในประเด็นเกี่ยวกับนโยบาย โครงการแผนงาน กิจกรรมการขับเคลื่อนด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การมีช่องทาง กระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานในสังกัดดีอีเอส

ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดฯ มีการเปิดรับแจ้งเบาะแส หรือรับฟังข้อเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์และสื่อในระบบอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางกระทำความผิดหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีจำนวนมาก และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องเชิงการบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในระดับประเทศ อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสารข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อสร้างผลกระทบในทางลบต่อสังคม ประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“ผมได้เน้นย้ำกระบวนการทำงานการพิจารณารับเรื่องร้องเรียน ประชาชนต้องติดตาม ตรวจสอบ สอบถามร้องเรียน และติดตามสถานะการดำเนินงานได้ โดยกระบวนการทำงานกระชับรวดเร็ว มีขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและจัดการแก้ไขให้ จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด” นายชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ดีอีเอส ยังมีช่องทางการสื่อสารที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน นอกเหนือจากช่องทางภายใต้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ถือเป็นช่องทางหลักในการให้บริการสอบถามข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดย บมจ. NT โดยหัวข้อยอดนิยมที่มีผู้ติดต่อสอบถามเข้ามา ได้แก่ เรื่องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นข้อกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

อีกทั้ง ยังมีช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และห้องให้คำปรึกษา หรือร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเข้ามาแจ้งที่ศูนย์รับกระทรวงดิจิทัลฯ ชั้น 6

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหามิจฉาชีพและกลโกงทางออนไลน์ ปัจจุบันได้ยกระดับ 1212 OCC เป็นศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ซึ่งได้จับมือดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คำปรึกษา รับแจ้ง และติดตามการแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ ได้แก่ สคบ. อย. ปอท. กระทรวงดิจิทัลฯ โดยกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ปท.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะพัฒนาระบบเชื่อมโยง และกรอบเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อีกทั้ง ล่าสุดได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินคดีและประสานข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายออนไลน์ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม

รวมทั้งนำเทคโนโลยี Social Listening เข้ามาช่วยในการสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ประเด็นจากฝั่งผู้บริโภคผ่านออนไลน์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหา รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของปัญหา ที่เกิดขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ควบคู่กับการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่แจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ ผ่านช่องทางออนไลน์

“ดีอีเอส ยังขานรับนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี ที่ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะเร่งขยายการทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น ขยายหน่วยงานความร่วมมือ ยกระดับการดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ บช.สอท. ศปอส.ตร แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) แพลตฟอร์ม Social Commerce อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค ศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง แผนกคดีซื้อขายออนไลน์) เป็นต้น” นายชัยวุฒิกล่าว

Related Posts

Send this to a friend