POLITICS

กมธ.กฎหมายถกกระบวนการ NRM ช่วยคนไทยจากเล้าก์ก่าย หลังมี 10 คนถูกจับคดีค้ามนุษย์

กมธ.กฎหมายถกกระบวนการ NRM ช่วยคนไทยจากเมืองเล้าก์ก่าย หลังมี 10 คนถูกจับคดีค้ามนุษย์ โทษหนักไม่ได้ประกัน ‘อิมมานูเอล‘ ยันมีหลักฐาน-พยานยืนยัน ขอความเป็นธรรมให้เหยื่อ ‘กัณวีร์‘ เสนอแก้เชิงรุก ผุดจุดเสี่ยงธุรกิจสีเทารอบรั้วไทย

วันนี้ (20 ธ.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มีการประชุม คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาหลังมูลนิธิอิมมานูเอล ร้องเรียนกรณี กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ที่รับคนไทยจากเมืองเล้าก์ก่าย คัดกรองคัดแยกเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์ เพราะมีบางส่วนถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามและตำรวจท่องเที่ยว

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานในที่ประชุม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ประเด็นที่ผู้ร้องต้องการคำชี้แจงคือในส่วนเกี่ยวกับคดี ซึ่งคณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจข้องเกี่ยวกับคดีได้ จึงได้เสนอแนะให้ผู้เสียหายทำหนังสือชี้แจงไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการ นำส่งพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนอีก 25 รายที่ผู้ปกครองมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิว่าถูกหลอกไปทำงานในต่างประเทศ จะแนบรายชื่อไปกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

นายกมลศักดิ์ เผยว่าจากการรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า 10 รายที่มีการออกหมายจับ สืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ได้ฟังจากคนอื่นๆ ที่เดินทางกลับมาด้วยกัน เจ้าหน้าที่ไม่ได้ฟังจากคำให้การของตัวผู้ถูกดำเนินคดี แต่รับฟังจากคนอื่นที่เดินทางกลับมาแล้วพาดพิงถึงบุคคลตามหมายจับร่วมกันว่า มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา ส่วนจะผิดหรือถูกนั้น เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง รวมถึงการดำเนินการเป็นไปตามหลักใช้สหวิชาชีพในการร่วมสอบ และนายกัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอในที่ประชุมว่า หน่วยงานทั้งหมดจะต้องมีการถอดบทเรียนข้อสรุปอุปสรรคในกระบวนการคัดกรองคัดแยก (NRM) สมควรมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากนั้น กระทรวง พม. จะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 8 มกราคมนี้ ซึ่งจะได้คุยในเรื่องสภาพปัญหา และที่สำคัญคือเรื่องงบประมาณ เพราะ พม.ยังไม่มีงบประมาณ ซึ่งอาจมีการพิจารณาตั้งเป็นงบประมาณกรณีฉุกเฉิน ลักษณะคล้ายกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ตั้งงบดูแลเวลาเกิดภัยพิบัติ เพราะเหตุลักษณะนี้ไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าแต่ละปีจะเกิดกรณีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะขอให้ส่งข้อสรุปในที่ประชุมดังกล่าว มายังคณะกรรมาธิการเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาผลักดันประเด็นนี้ต่อไป

“เรื่องนี้ อาจต้องลงไปลึกมาก มันอาจจะง่ายที่จะตั้งข้อกล่าวหา แต่บางครั้งมันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามต้องเจาะลึกลงไปมากต้องตามให้ทัน“ นายกมลศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในหลายประเทศกำหนดให้อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อยู่ในความผิดเรื่องการค้ามนุษย์แล้ว แต่กฎหมายประเทศไทยยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น หากใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่าง อาจจะได้ทั้งเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการปราบปรามการค้ามนุษย์ เห็นด้วยหรือไม่ นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าตรงนี้เป็นเรื่องของปลายเหตุ แต่ยังไปไม่ถึงเรื่องกระบวนการนำพา เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ดี ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าเราจำเป็นต้องศึกษาป้องกัน ไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อ และหลายคนที่ไปก็เป็นไปด้วยหลายสาเหตุ เพราะมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บางคนมีหมายคดีอาญาอยู่แล้ว อยู่บ้านไม่ได้ จึงต้องหนีไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้ เราจึงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางการป้องกันต่อไป

ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เชิญหน่วยงานมาตำหนิติติงแต่อย่างใด ทราบดีว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการ NRM หรือ กลไกการส่งต่อระดับชาติสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ แต่เข้าใจว่ากระบวนการนี้เพิ่งจัดตั้งเมื่อปี 2565 หรือราวหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ก็ใช้ในกลุ่มเล็กๆ หลัก 10 คน แต่ในรอบนี้มีจำนวนเป็นหลัก 100 คน จึงจำเป็นต้องมีการฝึกฝนทบทวนเพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในกรณีจากเมืองเล้าก์ก่าย เมื่อเดินทางกลับมาแล้ว เราแทบไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าภาพหลักเรื่อง NRM จึงได้มาพูดคุยเพื่อร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาตรงนี้

นายกัณวีร์ เรียกร้องให้มีการคิดแก้ไขปัญหาเชิงรุกด้วย เพราะธุรกิจสีเทาเหล่านี้มักมีในแถบเขตปกครองพิเศษที่เข้าถึงยาก และอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับประเทศไทย นำเงินผิดกฎหมายมาฟอกขาวในประเทศไทย และจำเป็นที่เราต้องแก้จากต้นตอ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เพื่อไม่เป็นจุดอ่อนให้ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย และกรรมาธิการเห็นตรงกันว่า จะต้องมีการแสวงหา แนวทางปราบปรามกลุ่มธุรกิจจีนสีเทาทั้งระบบ โดยอาจมีการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายกัณวีร์ เชื่อว่า ยังมีคนไทยอีกหลักพันคนที่ยังอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ติดชายแดนไทย และตกเป็นเหยื่อขบวนการสีเทาเหล่านี้ ซึ่งวันนี้ได้มีการหารือเรื่องนี้ว่ามีพื้นที่ไหนในประเทศเพื่อนบ้านของเราบ้าง ฉะนั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ขอย้ำว่ากระบวนการ NRM เป็นการตั้งรับ คือเรามีเหยื่อแล้วเรามาคัดกรอง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้นหากรู้ว่าต้นเหตุอยู่ตรงไหน เราจะต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุให้ได้ และจะเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลผ่านสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการดูแลแก้ไขปัญหานี้ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในห้องประชุม หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการและตอบข้อซักถามของผู้ร้องเรียน ประเด็นเร่งด่วนที่ผู้ร้องเรียนมีความกังวล คือเรื่องบุคคลที่ถูกหลอกลวงไปกลับถูกดำเนินคดี ในข้อหาที่มีความร้ายแรง ไม่ได้รับการประกันตัว กรรมาธิารได้แนะแนวทางการเรียกร้องความยุติธรรมผ่านการส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซึ่งทางตัวแทนมูลนิธิอิมมานูเอล ก็ยืนยันว่า บุคคลที่มีหมายจับต่างมีหลักฐานว่าถูกหลอกลวงไปทำงาน ถูกบังคับให้ทำเพราะมีการทำร้ายร่างกายสารพัด แต่ลักษณะงานของกลุ่มเหล่านี้คือไปทำหน้าที่เป็นล่ามเพราะพูดภาษาจีนได้ แต่ไม่เคยเป็นผู้ชักชวนหลอกลวงให้ผู้อื่นไปทำงาน มีหลักฐานเป็นแชทหลอกลวงและมีพยานที่พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์

Related Posts

Send this to a friend