POLITICS

นายกฯ ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม ยกเป็นวาระแห่งชาติ

นายกฯ ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม ยกเป็นวาระแห่งชาติ สั่งตั้งศูนย์ฉุกเฉิน บริการประชาชน ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือ ด้าน เลขาฯ สทนช. ยอมรับอาจมีน้ำท่วมบ้าง

วันนี้ (20 มิ.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ ที่อาคารรัฐสภา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย

ก่อนรับฟังการรายงาน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดโดยระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้วได้ประชุมเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล วันนี้จึงถือเป็นการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทั่วประเทศครั้งแรก ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกร่วมกันควรจะดำเนินการอย่างไร ให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะโครงการและกิจกรรมต่างๆของรัฐบาลในการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 หลายโครงการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ และโครงการพัฒนา 72 สายน้ำที่ยั่งยืน ตลอดจนการน้อมนำแนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีมาใช้

วันนี้จึงขอติดตามและรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการแก้ไขปัญหา เตรียมความพร้อม และวางแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการรับมือปัญหาเรื่องน้ำ โอกาสนี้จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนและกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน รวมถึงมีตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดน้ำท่วมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจดูความแข็งแรงของประตูระบายน้ำด้วน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นต้องทำงานกันให้รอบคอบและคอยประสานงานกันทุกๆฝ่ายให้มีเอกภาพมากที่สุด

จากนั้น เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า การเตรียมการรับมือกับน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ พบว่าปริมาณฝนลดลงไปแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังมีฝนบางส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงขอเสนอ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนในปี 2567 อาทิ ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำอาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำ และกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน) และเตรียมความพร้อม เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง เป็นต้น

ด้านนายชัชชาติ รายงานภาพรวมกรุงเทพมหานคร ว่า มีทั้งหมด 1968 ชุมชน มีปัญหาน้ำท่วม 126 ชุมชุน ทั้งหมดได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ และตัวชี้วัดได้มีการกำหนดชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ขณะนี้เหลือการลอกท่อกำจัดผักตบ ขุดลอกคูคลอง บางส่วน ซึ่งอาจจะต้องขอสนับสนุนกองทัพเรือ เกี่ยวกับเรือผลักดันน้ำ และกรมชลประทานสนับสนุนเรื่องการระบายน้ำ ในคลองเปรมประชากร และประเวศบุรีรมย์ และก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ได้ช่วยเหลือให้ความร่วมมือดี ทำให้ประชาชนชื่นชมมาก เช่นเดียวกับ กระทรวงกลาโหมพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เครื่องมือ กำลังพล

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ประชุมซ้อมการปฏิบัติ ก่อน เกิด หลังเกิด มีการสำรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยง พบว่าเป็นพื้นที่ป่า มีการซักซ้อมประชาชนไปในพื้นที่ปลอดภัย และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบแนวทาง

ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า เราถอดบทเรียนจากทุกปี ทั้งปี 54 และ 65 สิ่งที่เราถอดบทเรียน ควรมีการประชุม และบูรณาการ พร้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ในแต่ละภาค เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายภูมิธรรม เสนอให้มีการทดลองตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้รับทราบแนวทาง ก่อนนายกรัฐมนตรี จะถามย้ำว่า จะเริ่มทดลองที่จ.พระนครศรีอยุธยา ใช่หรือไม่ จากนั้น นายสุรสีห์ ระบุว่า ประชุมก่อนหน้า จะมีการตั้งศูนย์บัญชาการที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผน และกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน รวมถึงมีตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดน้ำท่วมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องตรวจดูความแข็งแรงของประตูระบายน้ำด้วย รัฐบาลยืนยันว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ต้องทำงานกันให้รอบคอบและคอยประสานงานกันทุก ๆ ฝ่ายให้มีเอกภาพมากที่สุด

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat