POLITICS

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดีต่างชาติเชื่อมั่น เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก

วันนี้ (20 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบการรายงานของกระทรวงการคลัง ถึงผลการโหวตลงคะแนนของที่ประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การประชุมประจำปี 2569

เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อม ในการจัดการประชุมในระดับโลกในทุกๆ ด้าน ทั้งสถานที่จัดการประชุม โรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคม สาธารณสุข และความปลอดภัย โดยการประชุมประจำปี ถือว่าเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิกของธนาคารโลกจำนวน 189 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศสมาชิก IMF จำนวน 190 ประเทศ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ซึ่งการประชุมใหญ่ประจำปี มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ธนาคารโลก และ IMF ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของโลก ปัญหาเร่งด่วนที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก การรักษาเสถียรภาพการเงินโลก การขจัดความยากจน การสร้างงาน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมประจำปีฯ มีกำหนดจัดในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในปี 2566 ราชอาณาจักรโมร็อกโกจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี และในปี 2567 และ 2568 การประชุมประจำปีฯ จะจัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา และจะเวียนให้ประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทุก ๆ 3 ปี ตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี 2534 ณ กรุงเทพมหานคร

“การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 จะเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกประมาณ 12,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องจากการประชุมดังกล่าว” นายอนุชา กล่าว

Related Posts

Send this to a friend