POLITICS

‘ร่มธรรม‘ ขอ กมธ.ที่ดิน ตรวจสอบโครงการลอก ‘คลองลายพัน’ จ.พัทลุง

‘ร่มธรรม‘ ขอ กมธ.ที่ดิน ตรวจสอบโครงการลอก ‘คลองลายพัน’ จ.พัทลุง หลังสังคมวิจารณ์กว้างขวางว่าทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่

วันนี้ (20 มี.ค. 67) นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎรโดยมี นายฐิติกันต์ ฐิติพฤติกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการขุดลอกคลองธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

นายร่มธรรม ระบุว่า เนื่องด้วยขณะนี้กระแสสังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงการการขุดลอกคลองธรรมชาติของกรมชลประทานอย่างกว้างขวาง และในพื้นที่จังหวัดพัทลุงก็มีการขุดลอกคลองธรรมชาติด้วย โครงการขุดลอกคลองทรายขาว ต.กงหรา อ.กงหรา จ.พัทลุง และยังมีแผนขยายคลอง 60 เมตร ความยาวกว่า 21 กิโลเมตร ซึ่งมีกระแสคัดค้านจากประชาชนทั่วไป จึงคิดว่าจำเป็นต้องมีการตรวจสอบโครงการนี้ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะหากมีการคัดค้านจากประชาชน กรมชลประทานก็จำเป็นต้องทบทวนโครงการ

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงและรายละเอียดของโครงการดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าการดำเนินการควรได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเรื่องประเมินผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประชาชนเจ้าของพื้นที่มีความกังวลว่าการขุดลอกคลองดังกล่าวจะเป็นการทำลายคลองธรรมชาติที่มีอยู่แต่เดิม และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวที่กรมชลประทานดำเนินการ จะขอให้คณะกรรมาธิการได้มีการตรวจสอบดังนี้

1.วัตถุประสงค์ของโครงการขุดลอกคลองธรรมชาติของกรมชลประทานในภาพรวม กรมชลประทานได้มีกระบวนการการดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างไร ก่อนดำเนินการมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่หรือไม่ รวมทั้งการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการหรือไม่อย่างไร

2.ขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงลึกโครงการขุดลอกคลองธรรมชาติจำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการขุดลอกคลองลายพัน ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา และโครงการขุดลอกคลองส้านแดง ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

ด้าน นายฐิติกันต์ โฆษก กมธ. กล่าวว่าทางคณะกรรมธิการจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อพิจารณาซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าหลายโครงการของรัฐหากเป็นโครงการที่คิดจากห้องแอร์โดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็จะเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ ดังนั้นโครงการแก้ปัญหาต่างๆควรตั้งต้นจากความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะเมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็ยากที่จะฟื้นฟู

Related Posts

Send this to a friend