POLITICS

‘ปริญญา’ ค้าน พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ

‘ปริญญา’ ค้าน พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ วอน ครม.อย่าเตะถ่วง เร่งชงเรื่องเข้าสภาฯ

วันนี้ (20 ก.พ. 66) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายศราวุฒิ ปทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า จากมติ ครม.ที่ให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป 8 เดือน นำมาซึ่งปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงต้องยืนยันในอำนาจทางนิติบัญญัติ การที่ฝ่ายบริหารดำเนินการด้วย พ.ร.ก.จะต้องเสนอต่อสภาฯ แต่สภาฯ กำลังจะหมดวาระ จึงมองว่าเป็นการลักไก่หรือไม่

เดิมกฎหมายนี้ให้บังคับใช้ 22 ก.พ. 66 แต่ พ.ร.ก.ชะลอการบังคับใช้ เพิ่งจะมีผลเมื่อ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้ยกเว้นมาตรา 22-25 โดยเลื่อนไปจนถึง 1 ต.ค. 66 และมาตราดังกล่าวคือ หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะถือเป็นเครื่องมือในการป้องกันสิทธิของประชาชน เช่น บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพและเสียงขณะควบคุมตัวจนกว่าจะถึงพนักงานสอบสวน

แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างว่าต้องใช้กล้องบันทึก และงบประมาณมีไม่พอ ซึ่งมองว่าสามารถใช้กล้องโทรศัพท์มือถือแทนได้ อีกทั้งการเลื่อนมาตราเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว ซี่งน่าสงสัยมากว่าเลื่อนได้อย่างไร เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บังคับไว้แล้วว่าต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าว

การบันทึกภาพและเสียงขณะควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทำอยู่แล้ว และการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม ปกติไม่ทำหรือ ไม่เห็นว่าต้องฝึกอบรมอะไรกันมาก 120 วันที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ ไม่ใช่แค่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่นายกรัฐมนตรีด้วย

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ปกติการออก พ.ร.ก.ไม่สามารถทำได้ นอกจากกรณีเหตุฉุกเฉินหรือสุดวิสัย มองว่ากรณีนี้การเลื่อนไม่ได้เข้าองค์ประกอบ การเลื่อน 4 มาตราจะกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ขณะที่มาตรา 172 ระบุว่าต้องให้ ครม. เสนอ พ.ร.ก.ต่อรัฐสภา โดยสมัยประชุมสภาฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 66 ยังมีเวลาอีก 8 วัน ยังสามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพื่ออนุมัติโดยเร็ว เกรงว่า ครม.จะเตะถ่วงจนถึงวันยุบสภา เพราะหากไม่มีสภาฯ การเลื่อนบังคับใช้จะทำได้โดยสะดวก

ถ้าสภาฯ ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะตกไป ฝ่ายบริหารจึงไม่ควรคิดว่ามีอำนาจใช้ พ.ร.ก.ได้แล้วยุบสภาหนี คำถามต่อมาคือหากนำ พ.ร.ก.ให้สภาฯ อนุมัติ จะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่เห็นชอบให้เลื่อนกฎหมายนี้ออกไป เพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย นายกรัฐมนตรีอาจคิดว่าทำได้ เพราะตนเองมีเสียงข้างมากในสภาฯ หากเลือกยุบสภาฯ หนี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตรวจสอบว่า พ.ร.ก.ใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การป้องการซ้อมทรมานและอุ้มหาย เป็นหลักการที่สากลโลกยอมรับและให้ความสำคัญ ภาคประชาสังคมได้รับเรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมานมามากมาย แต่ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำได้ ขอขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่ร่วมกันผลักดันจนผ่านมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสภาฯ แต่กลับถูกเลื่อน เพราะความไม่พร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น

นายสุรพงษ์ ตั้งคำถามว่า หน่วยงานอื่นที่กล่าวอ้างว่าไม่พร้อมคือ หน่วยงานใด ทั้งที่สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงแล้วว่า สำนักงานอัยการฯ เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวทุกมาตรา แต่ตำรวจและรัฐบาลกลับไม่สนใจ และยกหน่วยงานอื่นเป็นเหตุผลมากล่าวอ้าง

นายศราวุฒิ มองว่า นอกจากนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องมีส่วนรับผิดชอบ เพราะกระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันกฎหมายนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีการเสนอให้เลื่อนก็ทำตาม เป็นเรื่องแปลก เพราะฝ่ายการเมืองอยู่ใต้อำนาจของข้าราชการประจำแล้ว ทว่ายังมีเรื่องดี เพราะกฎหมายไม่ได้หายไปทั้งฉบับ และยังมีช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวน หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่เข้าข่าย

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองพร้อมใจกันไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนคงต้องรวมตัวไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

Related Posts

Send this to a friend