ที่ประชุมศาล รธน.เอเชีย จัดทำร่างปฏิญญากรุงเทพ เสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ
ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญเอเชีย จัดทำร่างปฏิญญากรุงเทพ เสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน
วันนี้ (19 ก.ย. 67) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมใหญ่สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย จำนวน 14 ประเทศ และกลุ่มภูมิภาคศาลรัฐธรรมนูญ 4 ภูมิภาคเข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ย.67 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร
โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) สาระสำคัญคือ การยึดหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งแยกอำนาจการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และความจำเป็นของหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความยุติธรรม สันติภาพ และเสถียรภาพในสังคมโลก ทั้งยังคำนึงถึงบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนสังคมให้มีความยั่งยืนด้วยการยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการจัดการปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากร และความยุติธรรมทางสังคม
ในที่ประชุมยังมีการปรับเปลี่ยนกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความท้าทายใหม่ ๆ โดยเน้นย้ำถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและประกันการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงแนวทางการส่งเสริมความยุติธรรม สันติสุข และสิทธิมนุษยชน การร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำที่เป็นภัยแก่ชีวิต ความมั่นคง เสรีภาพเพื่อนำไปสู่สังคมที่สันติและยั่งยืนยืน พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ปาเลสไตน์ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า สมาชิกสมาคมฯ จะร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำที่เป็นภัยแก่ชีวิตความมั่นคงเสรีภาพของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งรวมถึงชาวปาเลสไตน์ด้วย
อย่างไรก็ตามไทยในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และ หมดวาระในปี 2568 ซึ่งในที่ประชุมได้ตกลงกันว่าประเทศอุซเบกิสถาน จะรับตำแหน่งประธานสมาคมฯ ต่อจากประเทศไทย จากนั้นจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์
ด้าน นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศ โดยยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย หากศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เป็นที่ยอมรับ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้คงไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มสมาชิก ประเทศที่อยู่นอกเหนือภูมิภาค และคณะกรรมาธิการเวนิส ไม่เหมือนกับสมัยที่ประเทศไทยมีการยึดอำนาจ แม้แต่การเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการบางส่วน ต่างประเทศก็ไม่ต้อนรับ เพราะบัดนี้เรากลับเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งแล้ว