‘ภูมิธรรม’ ให้รอพรุ่งนี้ ครม.ตั้งใครคุม DSI แทน ‘พ.ต.อ.ทวี’ เตรียม สั่งทนายแจง ศาลรัฐธรรมนูญ รอบ 2
วันนี้ (19 พ.ค. 68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ค.) จะมีการเสนอชื่อบุคคลเข้ากำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แทน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในส่วนการกำกับดูแลดีเอสไอ ว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาดูแลแทน เนื่องจากตนเองดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการคดีพิเศษอยู่แล้ว เมื่อพันตำรวจเอกทวีถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีจึงต้องมอบหมายผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งนี้ จะมีการปรึกษาหารือกันในวันพรุ่งนี้ว่าจะเป็นรัฐมนตรีท่านใดที่มีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเองยังไม่ทราบว่าจะเป็นใคร และไม่ได้เสนอตัวเข้าไปดู เพียงแต่หากได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ก็พร้อมปฏิบัติตามในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้าชี้แจงเรื่องการฮั้วเลือก สว. วันนี้ สะท้อนถึงสงครามตัวแทนระหว่างสีแดงและสีน้ำเงินหรือไม่ นายภูมิธรรม ยืนยันว่าไม่มีเรื่องสีแดงหรือสีน้ำเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กกต. หรือดีเอสไอ หากบุคคลใด แม้จะอยู่ในคณะรัฐมนตรีหรือสังกัดพรรคเดียวกัน กระทำผิดกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจเรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากตนเองว่า ขณะนี้ทีมทนายความกำลังเตรียมทำคำชี้แจงเพิ่มเติมเป็นครั้งที่สอง หลังจากกลุ่ม สว. ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่าตนเองละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้พันตำรวจเอกทวีและดีเอสไอกระทำผิดกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งให้ตนเองหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกรณีที่กลุ่ม สว. ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ป.ป.ช. ยังไม่ได้เรียกเข้าชี้แจง แต่หากมีการสอบถามหรือมีข้อสงสัย ก็พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง
เมื่อถามถึงความกังวลต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจออกมาในทางลบ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามข้อมูลที่ฝ่ายปฏิบัติของดีเอสไอเสนอมา ตนเองไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการทำงาน เว้นแต่ในบทบาทประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งได้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยให้แยกแยะคดีให้หน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง เช่น กกต. ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนดีเอสไอก็ปฏิบัติหน้าที่ตามที่เสนอในที่ประชุม