POLITICS

‘อัศวิน’ รับเห็นความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา กทม.

เคยผลักดันนโยบาย “เรียนดี เรียนฟรี มีอาชีพ” โรงเรียนสองภาษา เปิดโลกทรรศน์ด้วยโครงการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แก้ปัญหาค่าอาหารนักเรียน กทม.สนับสนุนเพิ่มตั้งแต่เด็กเล็กจนจบมัธยม ดูแลสวัสดิการครูพี่เลี้ยง-ครูอาสา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 6 ในสัมภาษณ์กับ The Reporters ถึงปัญหาด้านการศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์วันเปิดภาคเรียนวันแรก พบว่าเด็กๆตื่นเต้น โดยเฉพาะเด็กเก่า ตื่นเต้นที่จะได้พบเพื่อน พี่ น้อง หลังต้องเรียนออนไลน์มานาน ได้คุยก็ทราบว่าโรงเรียนมีการรักษามาตรการณ์ป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น

ในกทม. มีโรงเรียนสังกัด กทม. มี 437 แห่ง ยังไม่รวมโรงเรียนฝึกอาชีพ มีจำนวนนักเรียนเกือบสามแสนคน ส่วนมากนักเรียนในสังกัด กทม. ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนรากหญ้า ชนชั้นกลางถึงล่าง ตนมีความต้องการรปรับคุณภาพชีวิตของเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. ให้เทียบเท่าคนอื่น ทำไปเยอะแล้ว ทั้งโรงเรียนสองภาษา เพิ่มภาษาอังกฤษ จีน อาหรับ พัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เห็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกรุงเทพมหานคร เคยไปดูงานที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาที่คลองเตย เจอเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เลยมีโอกาสไปคุยและชักชวนไปเรียน เคยทำโครงการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ได้ 4 รุ่นแต่ยุติไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ในโครงการนี้จะพาเด็กรุ่นละ 20 คน ระยะเวลา 15 สัปดาห์ พาไปศึกษาดูงาน เช่น บางแสน พัทยา สนามบินดอนเมือง เรือรบหลวงจักรีนฤเบศ พาเด็กๆไปดูงานถึงจังหวัดเชียงราย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศสหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์สุดท้ายของโครงการ ทำให้เด็กๆได้เปิดหูเปิดตา เปิดโลกทรรศน์ให้กว้าง เพิ่มโอกาสให้เด็กๆ มีความหวัง มีความฝัน โดยโครงการดังกล่าวไม่ได้ใช้งบประมาณทางราชการแต่อย่างใด เพราะได้รับการสนับสนุนจากเอกชน คัดเลือกเด็กด้วยการสอบแข่งขันจากโรงเรียนมัธยม 109 โรงเรียนทั่ว กทม. และหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่ากทม. พร้อมจะสานต่อโครงการนี้อย่างแน่นอน

พล.ต.อ.อัศวิน เล่าถึงความหลังในสมัยเป็นนักเรียนว่าตนเองก็ขาดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมาก่อน เคยสอบติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีทุนทรัพย์ จึงเลือกเรียนโรงเรียนพลตำรวจ เพราะได้เงินเดือนเดือนละ 450 บาท บรรจุไปทำงานที่ จ.สงขลา แล้วจึงมาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจและรับราชการตำรวจหลังจากนั้น พอมาเป็นผู้ว่าฯ จึงมองเห็นว่าเด็กกรุงเทพฯก็ยังยากจนเยอะอยู่ เราจึงต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เรื่องอาหาร รัฐบาลให้งบประมาณเด็กอนุบาลถึงป.6 วันละ 20 บาท อาหารเช้า 5 บาท อาหารเที่ยง 15 บาท ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน เมื่อครั้งมาเป็นผู้ว่ากทม. ได้เสนอเรื่องเข้าสภากทม. ขอเพิ่มงบเป็นหัวละ 40 บาท โดยกทม.สนับสนุนอีกคนละ 20 บาท ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นมื้อเช้า 15 บาท และมื้อเที่ยง 25 บาท รวมถึงดูแลคุณภาพทั้งหมด ให้โรงเรียนส่งเมนูอาหารให้ดูล่วงหน้าก่อน 2 สัปดาห์ และในศูนย์เด็กเล็กสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน กทม.เพิ่มงบอาหารกลางวันให้หัวละ 8 บาท เป็น 28 บาท เพราะผู้ปกครองมักมาส่งเด็กเล็กช่วงสาย ก็เป็นงบสำหรับมื้อกลางวันมื้อเดียวซึ่งมีความเพียงพอ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงนโยบายที่เคยทำสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. และศูนย์เด็กเล็ก ภายใต้นโยบาย “เรียนดี เรียนฟรี มีอาชีพ” เพิ่มงบประมาณซื้อเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เรียนฟรี เพิ่มโรงเรียนสองภาษา โรงเรียนร่วม นำเด็กพิเศษไปเรียนร่วมทำได้แล้ว 155 แห่ง เพิ่มชั่วโมงเรียนให้เด็กมีตัวเลือกเรียนฝึกอาชีพ เช่น ทำขนม ทำผม แต่งหน้า ให้เด็กมีทักษะอาชีพ

“มันต้องสร้างความเท่าเทียม ต้องเพิ่มให้ เพิ่มค่าอาหาร เพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือ เพิ่มทักษะในการเรียนการสอน เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น พัฒนาเรื่องเทคโนโลยีให้ด้วย รวมถึงพัฒนาไปยังชุมชน ทั้งห้องสมุดดิจิตอล หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตาและทางการได้ยิน หนังสือเสียง ห้องสมุดชุมชนเกิน 30 แห่งผลักดันให้เป็นแบบดิจิตอล เพิ่มพื้นที่ให้สามารถทำกิจกรรม ทำงาน สันทนาการได้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในชุมชน” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงผลการวิจัยว่าค่าใช้จ่ายของนักเรียนในกรุงเทพฯ มีอัตราสูงกว่าต่างจังหวัด ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง ว่าตนมองเห็นปัญหาดังกล่าว นักเรียนในกทม.ส่วนใหญ่เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องขับรถไปส่ง ค่าเทอมไม่มี ค่าอุปกรณ์ เครื่องแบบ มีแจกให้ ค่ากิจกรรม มีกองทุนให้เบิก ค่าอาหารสนับสนุนที่โรงเรียน ยืนยันว่าเด็กในกทม.เกือบจะไม่ต้องใช้จ่ายอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาผลักดันนโยบายช่วยเหลือมาโดยตลอด มีกองทุนช่วยเหลือเวลานักเรียนต้องการทำกิจกรรม เช่น งานฝีมือ ให้โรงเรียนเป็นผู้สนับสนุน ระดมทุนจากผู้มีจิตสาธารณะช่วยบริจาค

พล.ต.อ.อัศวิน ยอมรับว่ามีปัญหาที่ผู้ปกครองต้องหาเงินเพิ่มในช่วงเปิดเทอมให้กับลูก และพร้อมรับฟังผู้ปกครองทุกคน สามารถสะท้อนปัญหามาได้เลย ค่าเล่าเรียนและอื่นๆก็สนับสนุนทั้งหมดอยู่แล้ว

สำหรับการดูแลกลุ่มครูพี่เลี้ยง ครูอาสาในศูนย์รับเลี้ยงเด็กของ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ มีการแก้ไขระเบียบต่ออายุการทำงาน จ้างงานต่อให้กับบุคลากรกลุ่มนี้ไปแล้ว เพราะถึงแม้ไม่มีวุฒิการศึกษาแต่เขามีประสบการณ์ในการดูแลเด็ก แก้ระเบียบวุฒิการศึกษา เทียบคุณวุฒิให้ตามอัตราเงินเดือน แต่ติดขัดเรื่องบรรจุให้เป็นพนักงานราชการไม่ได้

“…ผมรู้ปัญหาดี เพราะผมมาจากลูกคนจน บ้านทำนา แม่ทำก๋วยเตี๋ยว ค้าขาย เราจน มาอาศัยอยู่วัดในกรุงเทพ กินข้าวก้นบาตรมาเรารู้ว่าเป็นยังไง รู้ว่าความลำบากเป็นยังไง ผมจึงหันไปมอง ทำโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำสวัสดิการ เรียนดี เรียนฟรี มีอาชีพ เพิ่มเงินอาหารกลางวัน อาหารเช้า เพิ่มค่าสวัสดิการ กระเป๋านักเรียน เสื้อผ้า เพิ่มเงินกิจกรรม หากองทุนการศึกษาช่วยเหลือให้…”

“ที่ไหนเรียนฟรีไม่จริงให้มาบอกผู้ว่าฯ” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่ากทม. หมายเลข 6 กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend