POLITICS

‘วรภพ’ ย้ำ 7 แสนล้าน กู้มาสูญเปล่าแน่ต้องยึดกรณีเงินกู้หนึ่งล้านล้านเป็นบทเรียน ผ่านมาหนึ่งปียังไร้ผลลัพธ์

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่ คณะรัฐมนตรีมีมติลักหลับ ประชุมลับ อนุมัติหลักการ พ.ร.ก. เงินกู้ 700,000 ล้านบาท ในวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่า หากยังจำกันได้ช่วงนี้ของปีที่แล้ว รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่หนึ่งปีผ่านมาประเทศไทยไม่เห็นผลลัพธ์อะไรจากการกู้เงินของรัฐบาลเลย จึงอยากตั้งคำถามดังๆ ว่าถ้ายังเป็นรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศ ผลลัพธ์จากการกู้เงินรอบใหม่จะต่างไปจากเดิมหรือไม่

“ถ้าจะดูว่าอนาคตเป็นอย่างไร เราต้องกลับไปดูการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่าการใช้เงินตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ยังไม่บรรลุเป้าหมายเลยซักแผน แผนสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ผ่านมา 1 ปี โควิดระบาดรอบสาม การเบิกจ่ายยังทำได้ต่ำมาก หลายโรงพยาบาลยังขาดความพร้อม การตรวจเชื้อยังทำได้จำกัด เตียงและเครื่องช่วยหายใจไม่พร้อมรับคนไข้โควิดรอบใหม่ โรงพยาบาลสนามที่ไม่ได้มาตรฐาน

แผนเยียวยา วงเงิน 600,000 ล้านบาท รัฐบาลอนุมัติได้เกือบเต็มวงเงิน แต่ข้อสังเกตคือเงินก้อนนี้ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กเลย ทั้งที่เป็นกลุ่มสำคัญที่ได้รับผลโดยตรงยากมาตรการของรัฐ ทำให้เกิดภาวะ SMEs ล้มหาย ลูกจ้างตกงานกันทั่วประเทศ

แผนฟื้นฟู 355,000 ล้านบาท คงเหลือ 216,886 ล้านบาท จากตัวเลขจะเห็นว่าเบิกจ่ายล่าช้ามาก เพราะส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เสนอโดยราชการส่วนกลางและอำนาจอนุมัติที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง การตั้งโครงการก็มีลักษณะอิงการเมือง ไม่มีวิสัยทัศน์ สตง. ได้ออกหนังสือเตือนเอาไว้แล้วว่ามีความเสี่ยงที่โครงการจะไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ”

ทั้งนี้ วรภพ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฉบับใหม่ ยังคงถูกวางกรอบไว้เหมือนเดิมอีก คือ ด้านสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท, เยียวยา วงเงิน 400,000 ล้านบาท และ ฟื้นฟู วงเงิน 270,000 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลทำเหมือนเดิม คือ การทำโครงการเบี้ยหัวแตกและรวมศูนย์อำนาจในการอนุมัติ ผลลัพธ์ย่อมไม่ต่างไปจากปีที่แล้ว

“หวังว่ารัฐบาลจะรู้จักยอมรับและเรียนรู้ความผิดพลาดในการบริหารที่ผ่านมา การกู้เงินเจ็ดแสนล้านบาท ต้องไม่ทำแบบที่ผ่านมา อยากให้ประชาชนทุกคนที่จะต้องเป็นผู้จ่ายหนี้ในอนาคต แม้ว่าจะไม่พร้อมใจ ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะยอมรับและเปลี่ยนแนวทางในการบริหารภาษีของเราหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ เราควรเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมีศักยภาพมากกว่านี้มาเป็นผู้บริหารงบประมาณ” วรภพ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend