POLITICS

‘พิมพ์ภัทรา’ ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือ ที่ จ.แพร่

‘พิมพ์ภัทรา’ ตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือ ที่ จ.แพร่ พร้อมเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน หวังเกิดการสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารของกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2567 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมของผู้ประกอบการชุมชนภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้เยี่ยมชมการดำเนินกิจการของชุมชนหมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน หมู่ 5 ต.ร่องฟอง อ.เมือง จ.แพร่ ดำเนินกิจการอุตสาหกรรมตีเหล็ก และผ้ามัดย้อม มีสมาชิก/พนักงาน ตีเหล็กประมาณ 800 ครัวเรือน ทำผ้าประมาณ 700 ครัวเรือน ยอดขายปีล่าสุด ตีเหล็กประมาณ 20-30 ล้านบาท และผ้าประมาณ 20 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการเกษตร ได้แก่ มีด เคียว จอบ เสียมพร้า ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ชุดเสื้อผ้ามัดย้อม กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าแฟชั่น และเสื้อกันหนาว

หมู่บ้านตีเหล็กบ้านร่องฟอง ได้ขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการแก้ปัญหาผังเมืองจังหวัดเพื่อให้สามารถขยายกิจการโรงงานได้ โดยปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนในส่วนต่าง ๆ ได้แก่

1) การสนับสนุนเงินทุน โดย ธพว. และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เช่น โครงการสินเชื่อ BCG Loan, สินเชื่อ SME 3D, สินเชื่อ SME Refinance, สินเชื่อ SME Speed Up, สินเชื่อ Micro SME และสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan)

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดย กสอ. ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมสู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดมีดทำครัว มีดเดินป่า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

จากนั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ เยี่ยมชมกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือโครงการ “แพร่-กระจาย” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีกิจกรรมฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ เช่น การสร้าง Story telling และเทคนิคการถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ เพิ่มช่องทางการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกจากชิ้นส่วนไม้สักที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย

นอกจากนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้เดินทางไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่สักทองเฟอร์นิเจอร์ (ไทยแลนด์) ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น ประกอบกิจการเครื่องเรือนตกแต่งภายในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และผลิตภัณฑ์จากไม้สัก โดยผู้ประกอบการขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนเครื่องจักร ยกระดับผลิตภาพการผลิต การติดตั้งระบบ Solar Rooftop และการสนับสนุนการปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิต

จากนั้น น.ส.พิมพ์ภัทรา เยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จังหวัดแพร่ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน” ณ ที่ทำการชมรมสตรี ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง ในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกตามแนวทาง BCG ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขี้เลื่อยไม้สัก เศษเหลือใช้วัสดุทางการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวคิด BCG มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน

จุดสุดท้าย น.ส.พิมพ์ภัทรา เดินทางไปตรวจราชการวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ประกอบกิจการสุรากลั่นชุมชน มีผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ โดยขอรับการสนับสนุนด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกจากน้ำเสีย และของเสียจากกระบวนการผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมขอรับการสนับสนุนการสร้างแบรนด์และโฆษณาในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดแพร่ ที่ขอรับการผลักดันจากกระทรวงฯ ในโครงการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้สักแห่งประเทศไทย ในวงเงินงบประมาณ 270 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2568–2571

Related Posts

Send this to a friend