POLITICS

ผู้เชี่ยวชาญ เผย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในไทยเพิ่มขึ้น ชี้ ผู้สูงอายุเสี่ยงเสียชีวิตสูง

ผู้เชี่ยวชาญกว่า 400 คนจากทั่วโลกและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ พร้อมแนะนำการดูแลป้องกันผู้สูงอายุจากไข้หวัดใหญ่ Protection Beyond Flu “การป้องกันที่มากกว่าไข้หวัดใหญ่” เผย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในไทยเพิ่มขึ้น 25% จากปี 2566 ขณะที่ผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ 8 จาก 10 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

สำหรับการประชุมนำเสนอข้อมูลสำคัญในหลายประเด็น ได้แก่ ภาระโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยที่มีโรคร่วม ผลกระทบของไข้หวัดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลยุทธ์การเพิ่มอัตราการรับวัคซีนในประเทศ และวิธีการประเมินวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ดีขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าได้เลือกตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพ การอภิปรายเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรับมือกับไข้หวัดใหญ่โดยการให้การป้องกันที่มากขึ้นเพื่อลดภาระโรคและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ไข้หวัดใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบอวัยวะสำคัญและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงประมาณ 3-5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงประมาณ 290,000-650,000 ราย

สำหรับประเทศไทย ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 603,000 ราย เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2566 ที่มีผู้ป่วย 484,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 47 ราย ขณะที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่สูงกว่าวัยทำงานถึง 10 เท่า โดย 8 จาก 10 รายของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และรักษาการหัวหน้าฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ประเทศไทย ภาครัฐริเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านโดสต่อปี เมื่อรวมกับ 3 ล้านโดสจากตลาดภาคเอกชน อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (VCR) อยู่ที่ 12% ของประชากร และ 30% ของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าสูงในภูมิภาค แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายอัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกที่อยู่ที่ 75%

ผลกระทบของไข้หวัดใหญ่มักถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและภาระจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ มีการประมาณการว่าภาระทางเศรษฐกิจระดับชาติจากไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 3.04 พันล้านบาทต่อปี เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ จึงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันผู้สูงอายุเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ

Dr George Kassianos ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันจากสหราชอาณาจักร กล่าวว่า อัตราการเข้ารับวัคซีนในผู้สูงอายุลดลงเรื่อย ๆ เกิดจากความลังเลในการรับวัคซีน ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง และการขาดข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อน จึงต้องสร้างความตระหนักแก่ประชากรผู้สูงอายุและผู้ดูแล

Prof. Tor Bering-Sorensen หัวหน้าการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงในผู้สูงอายุในประเทศเดนมาร์ค กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูงช่วยลดความรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดอักเสบ และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ เมื่อเทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐานในสถานการณ์จริง

ไข้หวัดใหญ่ สามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบอวัยวะสำคัญและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เพิ่มความเสี่ยง 10 เท่า ในการเกิดโรคหัวใจ, 8 เท่า ในการเกิดหลอดเลือดสมอง หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานถึง 75% จึงควรป้องกันผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามช่วงวัย

Related Posts

Send this to a friend