POLITICS

กมธ.สันติภาพ ตั้ง 2 อนุกรรมการ ติดตามการเจรจาสันติภาพ-การมีส่วนร่วม

‘จาตุรนต์’ เชื่อประสบการณ์เคยเป็นรองนายกฯ ศึกษาปัญหาชายแดนใต้ จะช่วยในการทำงาน – กมธ.สันติภาพ ตั้ง 2 อนุกรรมการ ติดตามการเจรจาสันติภาพ-การมีส่วนร่วม จ่อเชิญ สมช.ชี้แจงสัปดาห์หน้า

วันนี้ (18 ต.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวภายหลังเป็นประธานในการประชุมในวาระแรกวันนี้ ว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการได้ร่วมกันวางกรอบแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งคณะกรรมาธิการอยากทำงานให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว จึงเริ่มปรึกษาหารือเลยในวันนี้

ส่วนกรอบในการดำเนินงานจะมีการศึกษาสองส่วน คือ เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพและการเจรจา และส่วนที่สองคือการรับทราบ ประเมินสภาพปัญหาใหญ่ๆ ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง รวมทั้งศึกษาถึงข้อเสนอในอดีตที่เคยมีคณะต่างๆ หรือนักวิชาการได้ศึกษาไว้แล้ว เพื่อนำไปสู่สิ่งที่คาดหวัง คือความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ว่าในกระบวนการดังกล่าวดำเนินการไปถึงไหน และมีข้อติดขัดอย่างไร รวมถึงปัจจัยไปสู่ความสำเร็จจะต้องมีบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร มีกลไกอะไรถึงจะทำให้การสร้างสันติภาพนั้นคืบหน้าไปได้ ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ มาช่วยคิดช่วยเสนอแนะอย่างไร

นายจาตุรนต์ คาดหวังว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการจะนำไปสู่ข้อเสนอในการหาทางลดความขัดแย้ง ทำให้เกิดสันติภาพสันติสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะรวมข้อเสนอต่างๆเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

คณะกรรมาธิการจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการศึกษาติดตามกระบวนการสร้างสันติภาพและการเจรจา และคณะอนุกรรมมาธิการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเสนอแนะถึงปัญหาและทางออก โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะครอบคลุมกว้างขวางกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือต้องการให้คนไทยทั้งประเทศ มีความเข้าใจ เพราะเราเห็นว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากขาดความรู้ความเข้าใจของสังคมโดยรวมแล้ว จะแก้ปัญหาได้ยาก

นายจาตุรนต์ เผยว่า ประสบการณ์ในการทำงานของตนจะช่วยในการทำงานเรื่องนี้ เพราะตนเคยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้มายังรัฐบาล ได้รับความร่วมมืออย่างดี และมีทั้งบทเรียนในทางที่ได้รับความสำเร็จ คือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และบทเรียนที่ยังไม่สำเร็จ เช่น การนำเสนอแล้วหลายเรื่องไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุของมัน อยู่ที่ต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไร ให้ฝ่ายต่างๆเข้าใจและเห็นด้วยกับข้อเสนอ

“จะแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ ต้องอาศัย คนนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย คือคนส่วนใหญ่ของสังคม ต้องเข้าใจ เป็นบทเรียนของผม ส่วนประสบการณ์ที่เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการสมานฉันท์ ก็เคยได้ศึกษาเรื่องไว้กว้างขวางและครอบคลุมมาก แต่หลายเรื่องไม่ได้นำไปใช้ ผมมองว่า ต้องมีการสรุปบทเรียนในอดีตให้เกิดประโยชน์” นายจาตุรนต์ กล่าว

โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมในวันพุธ เวลา 13:30 น. เพื่อวางกรอบแนวทางการดำเนินงานต่อ และคณะกรรมาธิการ ได้เชิญสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาพูดคุยเพื่ออัพเดทสถานการณ์ อัพเดทเรื่องที่ทำอยู่ ต่อคณะกรรมาธิการด้วย

Related Posts

Send this to a friend