POLITICS

ประชาธิปปัตย์ จี้ รัฐบาล ทบทวนนโยบายพลังงาน-ลดราคาน้ำมัน

ประชาธิปปัตย์ จี้ รัฐบาล ทบทวนนโยบายพลังงาน-ลดราคาน้ำมัน ด้าน ‘ดร.พิสิฐ’ ยัน ไม่เห็นด้วยนโยบายเงินดิจิทัล

วันนี้ (18 ต.ค. 66) เวลา 10.00 น. ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อฝากไปยังรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่กำลังแก้ไขกฎเกณฑ์ด้านพลังงาน

ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่าขอให้กฎเกณฑ์ใหม่ที่รัฐบาลจะกำหนดนี้ ไม่ไปกระทบฐานะการคลังของรัฐบาล หรือสร้างหนี้สาธารณะ แต่ให้มุ่งแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ผลิตพลังงาน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าแพง โดยเฉพาะช่วงหลังการเลือกตั้งที่มีการปรับราคาน้ำมันบ่อยครั้ง ซึ่งราคาที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างแต่เกิดจากการยืดหนี้ที่ต้องจ่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไป

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่มาตรการลดค่าพลังงานของรัฐบาลในเดือนที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย เป็นการเบียดบังทางการคลังมากกว่าการปรับลดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งสองมาตรการที่ประกาศไปนั้นจึงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของฐานะการคลังและสร้างหนี้สาธารณะ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนในอนาคต

พรรคประชาธิปัตย์ จึงขอเสนอการปรับกฎเกณฑ์นโยบายราคาพลังงาน ที่ไม่กระทบฐานะการคลังซึ่งจะไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องรับภาระแทน โดยจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด ลดลงได้ทันทีอย่างน้อย 1.20 บาทต่อลิตร และลดค่าไฟฟ้าลงได้ 60 สตางค์ต่อหน่วย ดังนี้

ด้านแรก คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยขอให้ยกเลิกแนวคิด lmport parity เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปจนมีเหลือใช้ภายในประเทศต้องส่งออก จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศแต่อย่างใด ซึ่งหากยกเลิกแล้ว จะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันราคาถูกลง และให้โครงสร้างราคาน้ำมันมีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

ด้านที่สอง คือ การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนให้นำก๊าซจากอ่าวไทยมาใช้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้น สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ และรับซื้อเข้า Grid ในราคาที่เป็นธรรม และไม่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่อย่างที่เคย เพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง

พรรคประชาธิปัตย์ เล็งเห็นว่า ข้อเสนอทั้งสองด้านจะสามารถทำได้ทันทีซึ่งจะเป็นเหตุให้รายจ่ายพลังงานของประชาชนลดลงได้อย่างชัดเจนเป็นการลดภาระค่าของชีพที่ประชาชนกำลังมีความเดือดร้อน โดยไม่กระทบฐานะการคลังหรือสร้างหนี้ในกองทุนน้ำมัน หรือหนี้สาธารณะ

ในส่วนกรณีนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดร. พิสิฐ กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วย 100% แต่เห็นด้วยที่จะช่วยเหลือคนจน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องแจกทุกคน พร้อมระบุว่า เงินงบประมาณเหล่านั้น มีการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจทางการเงิน หากนำเงินมาใช้โดยเปล่าประโยชน์ ระบบการเงินก็จะถูกกระทบ ถือเป็นการเบียดบังเงินคงคลังโดยใช่เหตุ

Related Posts

Send this to a friend