POLITICS

สอบ. จี้ กสทช.เปิดผลการศึกษา ที่ปรึกษา SCF กรณีดีลทรู-ดีแทค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จี้ กสทช. เปิดผลการศึกษา ที่ปรึกษา SCF กรณีดีลทรู-ดีแทค ไม่หวั่นถูกฟ้องร้องเผยความลับราชการ หลังเปิดข้อมูล “14 เงื่อนไข ควบรวมทรู-ดีแทค”

วันนี้ (18 ต.ค.65) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และนายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกิจการกระจานเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้เปิดรายงานผลการศึกษาจาก SCF Associates LTD ที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศ กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ก่อนที่ประชุม กสทช.จะพิจารณาดีลควบรวมในวันที่ 20 ตุลาคมนี้

โดยเมื่อวานนี้มีตัวแทนทนายจากภาคประชาชน เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ห้วยขวาง ให้ดำเนินคดีอาญา กับนางสาวสารี และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กรรมการ กสทช. ฐานเปิดเผยความลับราชการ และบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หลังออกมาเปิดเผยมาตรการเฉพาะหลังควบรวมทรู-ดีแทค หรือ 14 เงื่อนไข ก่อนบอร์ด กสทช.พิจารณาให้เผยแพร่

ด้านนางสาวสารี ชี้แจงว่า ขณะนี้ กสทช.ยังไม่ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาใด ๆ ต่อประชาชน ตามมาตรา 59 (5) ของพระราชบัญญัติองค์กร จัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช.ต้องเปิดเผยผลการศึกษาที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ ให้ประชาชนทราบ

14 เงื่อนไขที่หลุดออกมานั้น ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคปฏิบัติตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า การเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดที่เป็นไปด้วยความสุจริต สภาองค์กรของผู้บริโภคพ้นผิด

นางสาวสุภิญญา อดีตกรรมการ กสทช. ระบุว่า ตามกฎหมาย กสทช.ต้องนำระเบียบวาระการประชุม ผลการลงมติ ผลการศึกษาต่าง ๆ มาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ กสทช. ส่วนเอกสารที่หลุดออกมา กสทช.ไม่ได้ประทับตรา “ลับ” จึงเป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถเปิดเผยได้

“หากลองเสิร์ชคำว่า ควบรวม ในเว็บไซต์ กสทช.แทบจะไม่พบข้อมูลอะไรเลย ข้อมูลสำคัญอย่างคู่มือการควบรวมก็หายไป เรางงว่า เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ทำไมกฎกติกาต่าง ๆ ถึงไม่พร้อม”

สาเหตุที่ กสทช.ยังไม่เปิดเผยข้อมูลผลศึกษาต่อสาธารณชน เพราะเริ่มแรก กสทช.พยายามตีความว่า “ไม่มีอำนาจพิจารณาดีลควบรวม” จึงส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. จึงพุ่งเป้าไปที่การพิจารณาดีลควบรวมในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ จึงอาจไม่มีเวลามาเปิดเผยข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 กสทช.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการควบรวมทรู-ดีแทค เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ซึ่งรายงานมีทั้งหมด 3 ฉบับ กำหนดส่งทุกวันที่ 14 ของเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ขณะนี้ที่ประชุม กสทช.ได้รับรายงานเพียง 2 ฉบับ ดังนั้นการประชุมพิจารณานัดพิเศษที่จะพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทคในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ จะเป็นการพิจารณาก่อนได้รับรายงานผลการศึกษาชุดสุดท้ายจากที่ปรึกษาอิสระต่างประเทศ ซึ่งทั้งนางสาวสารี และนางสาวสุภิญญา เห็นตรงกันว่า กสทช.ไม่ควรเร่งรัดพิจารณา ควรรอผลการศึกษาฉบับสุดท้ายออกก่อน เพราะดีลการควบรวมนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน

Related Posts

Send this to a friend