POLITICS

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เปิดผลถกหน่วยงานรัฐ-ประชาสังคม

หวั่น ‘ร่าง พ.ร.บ. NGO’ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปชช. – กระทบบทบาทนานาชาติในไทย

วันนี้ (18 ก.พ. 65) ณ อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกคณะ กมธ. แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งที่ประชุม ได้มีการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .… ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2)

นางสาวสุทธวรรณ แถลงว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการที่ผ่านมา มีข้อห่วงใย เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมองค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …. เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงได้เชิญผู้แทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมต่าง ๆ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะนำความเห็นข้อกังวลและข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนมาวิเคราะห์เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยมีความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้
    มีหลักการสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคประชาสังคมในองค์กรต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข
  2. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. โดยได้ส่งความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้เสนอข้อห่วงใยและข้อกังวลเพื่อประกอบการพิจารณา
  3. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในการพิจารณาปรับปรุงในการจัดทำร่างกฏหมายโดยได้นำความเห็นของคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบการฟอกเงินขององค์การระหว่างประเทศกับองค์กรภาคประชาสังคมภายในประเทศซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงจึงทำให้ร่างกฏหมายฉบับนี้มีการเพิ่มกระบวนการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม
  4. ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดและประเด็นสำคัญเพื่อเสนอต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยในภาพรวมมีความกังวลว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฏหมายมากำกับดูแลและควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมเนื่องจากมีกฎหมายอื่นซึ่งใช้ในการควบคุมดูแลอยู่แล้ว

นางสาวสุทธวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีความคิดเห็นว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้ควรจะต้องมีการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านเพื่อนำมาประกอบการจัดทำกฎหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งด้านความมั่นคง ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น

“คณะกรรมการจะได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาแนวนโยบายและกฎหมายภาครัฐที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาศึกษาข้อดีข้อเสียต่าง ๆ หากรัฐบาลเสนอกฎหมายดังกล่าวนี้เข้าสู่สภาในชั้นรับหลักการเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายคัดค้านหรือให้ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ โดยเฉพาะมาตรา 77 ความจำเป็นในการให้มีกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศในการออกกฏหมายให้เป็นที่ยอมรับต่อไป” โฆษก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กล่าว

ด้าน นายณัฐชา ประธาน กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหน่วยงาน NGO หลายหน่วยงานยื่นเรื่องคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้มาที่ กมธ. ทำให้ กมธ. เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อถามไถ่สาเหตุข้อเท็จจริง แต่การประชุมของ กมธ. เมื่อวานนี้ พบว่า พม. ร่างกฎหมายแล้วส่งให้กฤษฎีกาฯ จนได้รับข้อท้วงติงจาก ป.ป.ง. มา 8 ประเด็น รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศก็เป็นที่น่ากังวลจากนานาประเทศที่จะต้องทบทวนบทบาทในไทย เพราะหลายมาตราเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรวมกลุ่มกัน

“สุดท้ายความตั้งใจแรกที่ต้องการส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคประชาชน กลับกลายเป็นร่างฯ ที่ขัดขวางการรวมกลุ่มของพี่น้องประชาชน ซึ่งตอนนี้เป็นที่วิตกกังวลของหน่วยงาน NGO ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และตอนนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น หน่วยงาน พม. ก็ให้ข้อมูลว่าเห็นด้วย 76% ทั้งที่ NGO อยู่ระหว่างการคัดค้านอยู่” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ในประเทศไทย ประวัติศาสตร์มีอยู่ว่า นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลบังคับใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมทั้งสิ้น เบื้องต้นเราคงให้ความเห็นโดยทางคณะกรรมาธิการได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้วเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่องอยู่จำนวนมากจริง ๆ จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend