POLITICS

เสวนากฎหมายชาติพันธุ์ หวัง ครม. เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ส่งสภาฯ

เสวนากฎหมายชาติพันธุ์ หวัง ครม. เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ส่งสภาฯ ขอทุกฝ่ายยืนยันหลักการจนกว่าบังคับใช้ เพื่อหนุนศักยภาพ-ส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มได้จริง ย้ำ “ทุกชาติพันธุ์ก็เป็นคน”

วันนี้ (18 ม.ค. 67) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีองค์กรเครือข่ายด้านชาติพันธุ์ จัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค ณ กาดซอกจ่า บ.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน

ภายในงานมีการเสวนาวิชาการ “กฎหมายชาติพันธุ์: ตัวตนและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์” ดำเนินรายการโดย นางสาวนาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (Tha Active) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

นายอภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) เปิดประเด็นเสวนาถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. … ว่าถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกฎหมายดูแลพี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เพราะการเป็นชาติพันธุ์คือสำนึกของการเป็นคนในกลุ่ม จึงเป็นหมุดหมายที่สำคัญมากที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่พี่น้องที่อยู่ในป่าเขาหรือทะเล แต่คือพวกเราทุกคน ที่จะมีสิทธิใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คาดว่ากระบวนการทางกฎหมายน่าจะไม่เกิน 2 ปี

“ชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนล้วนเป็นคนชาติพันธุ์ และทุกชาติพันธุ์ก็เป็นคนเหมือนกัน” นักวิชาการ ศมส. กล่าว

นายศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาร่วมงานในวันนี้ว่า มีมาจากทั่วประเทศทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคอีสาน จนถึงภาคเหนือที่นี่ รวมแล้วมากกว่า 40 กลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ นั้น ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจึงต้องติดตามและส่งเสียงถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร่งพิจารณาเพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และที่สำคัญต้องยืนยันในหลักการร่วมได้ คือ กฎหมายต้องมีชีวิต และส่งเสริมวิถีชีวิตได้จริง

นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า แม้ร่างกฎหมายจะเข้าสู่กระบวนการแล้ว แต่เราจะต้องเฝ้ายืนยันในข้อเสนอของเราต่อการพิจารณากฎหมายในทุกวาระ แม้โดยทั่วไปร่างกฎหมายจะใช้เวลาราว 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ แต่ก็มีบางกฎหมายที่นายกฯ พูดแล้วก็สามารถดำเนินการได้เร็ว ถึงสักวันหนึ่งรัฐบาลต้องมาขอบคุณและขอโทษกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปักปันเขตแดนสยามไว้ได้ด้วย

นางจิรนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ไม่อยากให้น้ำหนักในประเด็นการพิจารณากฎหมายช้าหรือเร็ว เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการ หากมันช้า พี่น้องชาติพันธุ์ต้องแสดงศักยภาพให้คนภายนอกเห็นอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาพี่น้องชาติพันธุ์ยังมีภาพลักษณ์ที่รู้สึกไม่กล้าแสดงออกในวิถีที่พูดว่าสวยงามและเรียบง่าย จึงขออย่าไปสนใจคำพูดที่สังคมว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนป่า แต่ขอให้มั่นใจแล้วลุกขึ้นมาสู้กับคำพูดเหล่านั้นของสังคม หากช่วยชาวเขา ชาวเขาก็ช่วยชาวเรา และช่วยชาวโลกต่อไปด้วย

“ในฐานะของข้าราชการ ก็จะไปหนุนเสริมพี่น้องศักยภาพ เสริมศักยภาพให้เข้มแข็ง คงต้องตั้งใจมากกว่านี้ในการทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์” ผอ.ศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว

นายสมภพ ยี่จอหอ นักวิจัยและพัฒนาจากดอยสเตอร์ กล่าวในมุมมองผู้แทนภาคเอกชนที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ จะทำให้คนในสังคมรู้จักชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ได้มากขึ้น เพราะหากย้อนไป 20 – 30 ปี ประเด็นคนอยู่กับป่านั้นมันแรง ดังนั้น จึงควรหาเครื่องมือว่า ชาวบ้านสามารถอยู่และจัดการกับป่าได้ ไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์ แต่ต้องการการหนุนเสริมศักยภาพได้ หากกฎหมายนี้ออกมาเร็ว ก็จะตอบสนองต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ด้วยให้มีอาชีพทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง สามารถรับช่วงต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตายสืบทอดมาโดยไม่สูญสลายเลือนหายไปตามกาลเวลา

Related Posts

Send this to a friend